แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระประจำวันเกิด ทั้งเจ็ดวัน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระประจำวันเกิด ทั้งเจ็ดวัน แสดงบทความทั้งหมด

พระประจำวันเกิด ทั้งเจ็ดวัน

 

พระประจำวันเกิด ทั้งเจ็ดวัน


1. ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์

พระประจำวันอาทิตย์ ได้แก่ ปางถวายเนตร

ลักษณะพระพุทธรูป:   พระพุทธรูปที่อยู่ในพระอริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า
พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ระหว่างพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนเหลื่อมพระหัตถ์ซ้าย
อยู่ในพระอาการสังวรทอดพระเนตรดูต้นพระศรีมหาโพธิ์

ความเป็นมา
เมื่อครั้งพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
ก็ได้ประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขอันเกิดจากความสงบ) อยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
เป็นระยะเวลา 7 วัน จากนั้นได้เสด็จไปประทับยืน ณ ที่กลางแจ้งทางทิศอีสาน
ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยไม่กระพริบพระเนตรเลย
ตลอดระยะเวลา 7 วัน ซึ่งสถานที่ประทับยืนนี้ได้มีนามปรากฏว่า   " อนิมิสเจดีย์"  
มาจนปัจจุบัน เป็นเหตุแห่งการสร้างพระพุทธรูปปางนี้เรียกว่า ปางถวายเนตร
นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปเพื่อสักการะบูชาประจำของคนเกิดวันอาทิตย์  
   
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันอาทิตย์

อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะ
คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง เย พ๎ราห๎มะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม เต เม
นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง กัต๎วา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ

อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะ
คุตตา วิหะเรมุ รัตติง เย พ๎ราห๎มะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม เต เม
นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง กัต๎วา โมโร วาสะมะกัปปะยีติ ฯ


            สวดวันละ 6 จบ จะมีความรุ่งเรืองและความสุขสวัสดีตลอดกาล

 2. ผู้ที่เกิดวันจันทร์

พระประจำวันจันทร์ ได้แก่ ปางห้ามญาติ หรือ ห้ามสมุทร

ลักษณะพระพุทธรูป:   พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสอง
ยกขึ้นเสมอพระอุระ(อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม
เป็นปางเดียวกันกับปางห้ามสมุทร ต่างกันตรงที่ปางห้ามญาติจะยกมือขวา
ขึ้นห้ามเพียงมือเดียว ส่วนปางห้ามสมุทรจะยกมือทั้งสองขึ้นห้าม
แต่ส่วนใหญ่มักจะนิยมสร้างเป็นปางห้ามญาติ และนิยมทำเป็นแบบพระทรงเครื่อง

ความเป็นมา
ปางห้ามญาติเกิดขึ้นเนื่องจากพระญาติฝ่ายพุทธบิดาคือกรุงกบิลพัสดุ์ และพระญาติฝ่ายพุทธมารดา คือ
กรุงเทวทหะ ซึ่งอาศัยอยู่บนคนละฝั่งของแม่น้ำโรหิณี เกิดทะเลาะวิวาทแย่งน้ำเพื่อไปเพาะปลูกกันขึ้น
ถึงขนาดจะยกทัพทำสงครามกันเลยทีเดียว พระพุทธองค์จึงต้องเสด็จไปเจรจาห้ามทัพ คือ ห้ามพระญาติมิให้ฆ่าฟันกัน

ส่วนปางห้ามสมุทรเป็นพุทธประวัติ ตอนเสด็จไปโปรดพวกชฎิล
(นักบวชประเภทหนึ่งที่นุ่งห่มหนังเสือ และนิยมบูชาไฟ) 3 พี่น้อง
ได้แก่ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่
อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราพร้อมบริวาร 1,000 คน โดยได้แสดงพุทธปาฏิหาริย์
หลายอย่างเพื่อทำลายทิฎฐิมานะของชฎิลทั้งหลาย เช่น ห้ามลม ห้ามฝน ห้ามพายุ
และห้ามน้ำท่วมที่เจิ่งนองตลิ่งมิให้มาต้องพระวรกายได้ อีกทั้งยังสามารถเดินจงกรม
อยู่ใต้พื้นน้ำได้ ทำให้พวกชฎิลเห็นเป็นที่อัศจรรย์ และยอมบวชเป็นพุทธสาวก

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันจันทร์

ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโธ
ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง พุทธานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ

ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโธ
ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง ธัมมานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ

ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโธ
ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง สังฆานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ

            สวดวันละ 15 จบ จะมีความสุข ความเจริญปราศจากโรคาพยาธิทั้งปวง

                                                                                                                          

 3. ผู้ที่เกิดวันอังคาร

พระประจำวันอังคาร
ได้แก่ ปางโปรดอสุรินทราหู หรือ ปางไสยาสน์ หรือ ปางปรินิพพาน       
ลักษณะพระพุทธรูป:   พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้าง
ซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียร
และมีพระเขนย (หมอน) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ (รักแร้)

ความเป็นมา
ปางไสยาสน์ หรือบางทีก็เรียก ปางปรินิพพาน เป็นพุทธประวัติตอนที่พระพุทธองค์
ได้รับสั่งให้พระจุนทะเถระปูอาสนะลงที่ระหว่างต้นรังคู่หนึ่ง แล้วทรงประทับบรมทม
แบบสีหไสยาส์ ตั้งพระทัยไม่เสด็จลุกขึ้นอีก แต่ก็ยังได้โปรดสุภัททปริพาชกเป็นอรหันต์องค์สุดท้าย
ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายพากันเศร้าโศก ร่ำไห้ คร่ำครวญถึงพระองค์
พระอานนท์และพระอนุรุทธเถระได้แสดงธรรมเพื่อปลอบโยนมหาชน พุทธศาสนิกชนเมื่อรำลึก
ถึงการเสด็จปรินิพพานของพระองค์ จึงได้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้น เพื่อบูชาพระพุทธองค์


นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าถึงปางนี้อีกนัยหนึ่งคือ ในสมัยพุทธกาล
เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร   " อสุรินทราหู"   หรือ   " พระราหู"  
ผู้ครองอสูรพิภพ ได้สดับคำสรรเสริญถึงพระเกียรติคุณของพระบรมศาสดาจากสำนักเทพยดาทั้งหลาย
ก็มีความปรารถนาอยากจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าบ้าง แต่ก็คิดคำนึงไปเองว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์
คงต้องมีพระวรกายที่เล็ก หากตนจะไปเฝ้าก็จะต้องก้มมองเป็นความลำบากมาก
อีกทั้งตนก็ไม่เคยก้มเศียรให้ใคร คิดแล้วก็ไม่ไปเฝ้า


ต่อมาได้ยินพวกเทวดาสรรเสริญพระพุทธองค์อีก ก็เกิดความอยากไปเฝ้าอีก
จึงวันหนึ่งได้ตั้งใจไปเฝ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบด้วยญาณ รวมทั้งทราบถึงความในใจของอสุรินทราหู
จึงทรงเนรมิตพระวรกายให้ใหญ่โตกว่ากายของอสุริทราหูหลายเท่าขณะเสด็จบรรทมรอรับ
ดังนั้น เมื่อมาเข้าเฝ้า แทนที่อสุรินทราหูจะต้องก้มมอง กลับต้องแหงนหน้าดูพระพุทธองค์
จึงเกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนว่า ข่าวลือหรือเรื่องใดๆหากไม่เห็นด้วยตนเอง
หรือยังไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ ก็ไม่ควรติชมไปก่อน อีกทั้งได้พาอสุรินทราหูไปเที่ยวพรหมโลก
ได้เห็นบรรดาพรหมที่มาเฝ้ามีร่างกายใหญ่โตกว่าตนทั้งสิ้น แต่พระพุทธเจ้าก็ยังมีพระวรกาย
ใหญ่กว่าพรหมเหล่านั้นอีก อสุรินทราหูจึงลดทิฐิและหันมาเลื่อมใสในพระบรมศาสดา


บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันอังคาร

ยัสสานุสสะระเณนาปิ อันตะลิกเขปิ ปาณิโน
ปะติฏฐะมะธิคัจฉันติ ภูมิยัง วิยะ สัพพะทา
สัพพูปัททะวะชาลัมหา ยักขะโจราทิสัมภะวา
คะณะนา นะ จะ มุตตานัง ปะริตันตัมภะณามะ เห ฯ

            สวดวันละ 8 จบ จะเกิดผลดี

 4. ผู้ที่เกิดวันพุธ

พระประจำวันพุธ (กลางวัน) ได้แก่ ปางอุ้มบาตร    
ลักษณะพระพุทธรูป:   พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรราวสะเอว

ความเป็นมา
เมื่อพระพุทธเจ้าได้สำแดงอิทธิปาฏิหารย์ เหาะขึ้นไปในอากาศ
ต่อหน้าพระประยูรญาติทั้งหลาย เพื่อให้พระญาติผู้ใหญ่ได้เห็น และละทิฐิถวายบังคมแล้ว
จึงได้ตรัสเทศนาเรื่องพระมหาเวสสันดรชาดก ครั้นแล้วพระญาติทั้งหลายก็แยกย้ายกันกลับ
โดยไม่มีใครทูลอาราธนาฉันพระกระยาหารเช้าในวันรุ่งขึ้น ด้วยเข้าใจผิดคิดว่า พระองค์เป็น
ราชโอรสและพระสงฆ์ก็เป็นศิษย์ คงต้องฉันภัตตาหารที่จัดเตรียมไว้ในพระราชนิเวศน์เอง
แต่พระพุทธองค์กลับพาพระภิกษุสงฆ์สาวกเสด็จจาริกไป ตามถนนหลวงในเมืองเพื่อโปรดเวไนยสัตว์
(ผู้ที่พึงสั่งสอนได้)อันเป็นกิจของสงฆ์ และนับเป็นครั้งแรกที่ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ได้มีโอกาสชม

พระพุทธจริยาวัตรขณะทรงอุ้มบาตรโปรดสัตว์ ประชาชนจึงต่างแซ่ซ้องอภิวาทอย่างสุดซึ้ง
แต่ปรากฏว่าพระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดาทรงทราบเข้า ก็เข้าใจผิดและโกรธพระพุทธองค์
หาว่าออกไปขอทานชาวบ้าน ไม่ฉันภัตตาหารที่เตรียมไว้ พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงอธิบายว่า
การออกบิณฑบาตรเป็นการไปโปรดสัตว์ มิใช่การขอทาน จึงเป็นที่เข้าใจกันในที่สุด

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพุธ (กลางวัน)

สัพพาสีวิสะชาตีนัง ทิพพะมันตาคะทัง วิยะ
ยันนาเสติ วิสัง โฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง
อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณินัง
สัพพะโสปิ นิวาเรติ ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ

         สวดวันละ 17จบจะมีความสุขสวัสดียิ่งๆขึ้นไป          

           

พระประจำวันพุธ (กลางคืน) ได้แก่ ปางป่าเลไลยก์  
( ผู้ที่เกิดระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันพุธถึง 06.00 น.ของวันพฤหัสบดี
หรือบางคนก็นับตั้งแต่ 18.00 – 24.00 น.ของวันพุธ (สุดแต่ความเชื่อ))    
     
ลักษณะพระพุทธรูป:   พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถประทับ (นั่ง) บนก้อนศิลา
พระบาททั้งสองวางบนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระขนุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงาย
นิยมสร้างช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย

ความเป็นมา
สำหรับปางนี้กล่าวถึงเมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองโกสัมพี
ครั้นนั้นพระภิกษุมีมากรูปด้วยกัน และไม่สามัคคีปรองดอง ไม่อยู่ในพุทธโอวาท ประพฤติตามใจตัว
พระองค์จึงเสด็จจาริกไปอยู่ตามลำพังพระองค์เดียวในป่าที่ชื่อว่าปาลิไลยกะ
โดยมีมีพญาช้างเชือกหนึ่งชื่อ   " ปาลิไลยกะ"   เช่นเดียวกัน มีความเลื่อมใสในพระพุทธองค์
มาคอยปฏิบัติบำรุงและคอยพิทักษ์รักษามิให้สัตว์ร้ายมากล้ำกราย ทำให้พระพุทธองค์เสด็จประทับ

อยู่ในป่านั้นด้วยความสงบสุข และป่านั้นต่อมาก็ได้ชื่อว่า   " รักขิตวัน" ครั้นพญาลิงเห็นพญาช้างทำงาน
ปรนนิบัติพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพ ก็เกิดกุศลจิตทำตามอย่างบ้าง ต่อมาชาวบ้านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
แต่ไม่พบ และทราบเหตุ ก็พากันตำหนิติเตียน และไม่ทำบุญกับพระเหล่านั้น พระภิกษุเหล่านี้จึงได้สำนึก
ขอให้พระอานนท์ไปทูลเชิญเสด็จพระพุทธองค์กลับมา ช้างปาลิไลยกะก็มาส่งเสด็จด้วยความเศร้าเสียใจ
จนหัวใจวายล้มตายไป ด้วยกุศลผลบุญจึงได้ไปเกิดเป็น   " ปาลิไลยกะเทพบุตร"  

จากเหตุการณ์นี้ ถือว่าเป็นเหตุการณ์อันน่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงพฤติกรรม
ของพระ 2 ฝ่ายในขณะนั้น ไม่เชื่อฟังแม้กระทั้งพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนจึงได้สร้างพระปางนี้ขึ้น
เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจถึงการแตกสามัคคี การทะเลาะวิวาทกัน

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพุธ (กลางคืน)

กินนุ สันตะระมาโนวะ ราหุ จันทัง ปะมุญจะสิ
สังวิคคะรูโป อาคัมมะ กินนุ ภีโต ติฏฐะสีติ
สัตตะธา เม ผะเล มุทธา ชีวันโต นะ สุขัง ละเภ
พุทธาคาถาภิคิโตมหิ โนเจ มุญเจยะ จันทิมันติ


            สวดวันละ 12 จบ จะมีความเจริญสุขสวัสดี

 

 5. ผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี

พระประจำวันพฤหัสบดี ได้แก่ ปางสมาธิ หรือ ปางตรัสรู้    

ลักษณะพระพุทธรูป:   พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ
พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย

ความเป็นมา
ปางตรัสรู้ คือ ปางที่เจ้าชายสิทธัตถะหรือพระโพธิสัตว์ทรงประทับขัดสมาธิ
บนบัลลังก์หญ้าคาใต้ต้นมหาโพธิ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา และได้ตรัสรู้
พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 6
ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ซึ่งก็ตรงกับวันวิสาขบูชานั่นเอง

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพฤหัสบดี...

ปูเรนตัมโพธิสัมภาเร นิพพัตตัง วัฏฏะชาติยัง
ยัสสะ เตเชนะ ทาวัคคิ มะหาสัตตัง วิวัชชะยิ
เถรัสสะ สารีปุตตัสสะ โลกะนาเถนะ ภาสิตัง
กัปปัฏฐายิ มะหาเตชัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ

            สวดวันละ 19 จบ จะมีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

 6. ผู้ที่เกิดวันศุกร์

พระประจำวันศุกร์ ได้แก่ ปางรำพึง     

ลักษณะพระพุทธรูป:   พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานกัน
ยกขึ้นประทับที่พระอุระ (อก) พระหัตถืขวาทับพระหัตถ์ซ้าย

ความเป็นมา
ภายหลังจากที่ตรัสรู้ได้ไม่นาน พระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ภายใต้ต้นไทร (อชปาลนโครธ)
ก็ได้ทรงรำพึงพิจารณาถึงธรรมที่ตรัสรู้ว่าเป็นธรรมที่มีความละเอียดลึกซึ้ง
ยากที่มนุษย์ปุถุชนจะรู้ตามได้ จึงเกิดความท้อพระทัยที่จะไม่สั่งสอนชาวโลก
ด้วยรำพึงว่าจะมีใครสักกี่คนที่ฟังธรรมะของพระองค์เข้าใจ ร้อนถึงท้าวสหัมบดีพรหม
ได้มากราบทูลอาราธนาเพื่อทรงแสดงธรรมว่าในโลกนี้บุคคลที่มีกิเลสเบาบาง

พอฟังธรรมได้ยังมีอยู่ พระพุทธองค์ได้ทรงพิจารณาแล้วก็เห็นชอบด้วยอีกทั้งทรงรำพึง
ถึงธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อน ว่าตรัสรู้แล้วก็ย่อมแสดงธรรม
โปรดสัตว์โลกเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนทั้งปวง จึงได้น้อมพระทัยในอันที่จะแสดงธรรมต่อชาวโลก
ตามคำอาราธนานั้น และตั้งพุทธปณิธานจะใคร่ดำรงพระชนม์อยู่จนกว่าจะได้ประกาศ
พระพุทธศาสนา ให้แพร่หลายประดิษฐานให้มั่นคงสำเร็จประโยชน์แก่ชนนิกรทุกหมู่เหล่าต่อไป
พระพุทธจริยาที่ทรงรำพึงถึงธรรมที่จะแสดงโปรดชนนิกรผู้เป็นเวไนยบุคคลนั้นแล
เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า ปางรำพึง

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันศุกร์...

ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง
ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตันทิโต
สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ
เอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ

สวดวันละ 21 จบ จะมีความสุขสวัสดีตลอดกาลนาน

 7. ผู้ที่เกิดวันเสาร์

พระประจำวันเสาร์ ได้แก่ ปางนาคปรก    

ลักษณะพระพุทธรูป :   พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถประทับ (นั่ง)
ขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวา
ซ้อนทับพระหัตถ์ซ้ายเหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาคขนดร่างเป็นวงกลมเป็นพุทธบัลลังก์
และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร

ความเป็นมา
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ และประทับบำเพ็ญสมาบัติเสวยวิมุตติสุข
อันเกิดจากความพ้นกิเลสอยู่ ณ อาณาบริเวณที่ไม่ไกลจากต้นพระศรีมหาโพธิ์
แห่งละ 7 วันนั้น ในสัปดาห์ที่ 3 นี้เอง ก็ได้ไปประทับใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก)

ขณะนั้นฝนได้ตกลงมาไม่หยุด พญานาคตนหนึ่งชื่อ "มุจลินท์นาคราช"
ก็ได้ขึ้นมาแสดงอิทธิฤทธิ์เข้าไปวงขนด 7 รอบ แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าไว้
มิให้ฝนตกต้องพระวรกาย เหมือนกั้นเศวตฉัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยความประสงค์มิให้ฝนและลมหนาวสาดต้องพระวรกาย ทั้งป้องกันเหลือบ ยุง บุ้ง ร่าน ริ้น
และสัตว์เลื้อยคลานทั้งมวลด้วย จนฝนหาย จึงได้แปลงร่างเป็นมาณพเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันเสาร์ …

ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต
นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตาฯ
เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ ฯ

            สวดวันละ 10 จบ จะมีความสุขความเจริญและเกิดความสวัสดีมีมงคลตลอดกาลนาน


ที่มา : www.watpamahachai.net

ป้ายกำกับ