อายตนะ 6

อายตนะ แปลว่า เครื่องติดต่อหรือที่เชื่อมต่อ โดยรวมแล้วหมายถึงสิ่งที่เป็นสื่อใช้สำหรับในการติดต่อกันระหว่างสิ่งภายนอกและสิ่งภายใน โดยทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 อย่างด้วยกัน นั่นก็คือ อายตนะภายนอก ที่หมายถึงสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเรา 6 อย่าง และอายตนะภายใน หมายถึงสิ่งที่อยู่ภายในตัวเรา 6 อย่าง โดยทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่ต้องคู่กันอยู่เสมอ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้



อายตนะภายนอกมีอะไรบ้าง?
1. รูปายตนะ คือ รูป หรือสีต่างๆ ที่มากระทบกับตาของเรา
2. สัททายตนะ คือ เสียงต่างๆ ที่มากระทบกับหูของเรา
3. คันธายตนะ คือ กลิ่นต่างๆ ที่มากระทบกับจมูกของเรา
4. รสายตนะ คือ รสต่างๆ ที่มากระทบกับลิ้นของเรา
5. โผฏฐัพพายตนะ คือ สัมผัสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะร้อน, เย็น, หย่อน, แข็ง ซึ่งเป็นธรรมชาติที่มากระทบกับกายของเรา
6. ธัมมายตนะ คือ อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งมากระทบกับจิตใจของเรา

อายตนะภายในมีอะไรบ้าง?
1. จักขายตนะ คือ ประสาทตาที่ได้รับการมองเห็นในสิ่งต่างๆ
2. โสตายตนะ คือ โสตประสาท หรือประสาทหู ที่ได้รับการได้ยินในเสียงต่างๆ
3. ฆานายตนะ คือ ฆานประสาท หรือประสาทรับกลิ่นที่ได้รับในกลิ่นต่างๆ
4. ชิวหายตนะ คือ ชิวหาประสาท หรือประสาทรับรสในการได้รับรสต่างๆ
5. กายายตนะ คือ กายประสาท หรือประสาทที่ได้รับการสัมผัสต่างๆ
6. มนายตนะ คือ จิตที่รับรู้ความเป็นอารมณ์ทั้งหมด เป็นธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ

นอกจากนี้หลักอายตนะ 6 นี้ ยังได้มีการนำมาเป็นหลักในการใช้ตั้งชื่อของเราอีกด้วย ซึ่งความเชื่อในหลักของศาสตร์การตั้งชื่อนี้เรียกว่ามีอิทธิพลอย่างยิ่งเลยทีเดียว โดยหลักการตั้งชื่อตามตำราอายตนะนับเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของนามศาสตร์ ที่ว่าด้วยชื่อมีอิทธิพลต่ออายตนะ 6 หรือที่เรียกว่าการดำเนินชีวิตของเราหรือผู้คนรอบข้างมีอิทธิพลส่งผลกระทบถึงตัวของเราได้โดยตรงนั่นเอง ทำให้มีการถอดตัวเลขออกมาเป็นกำลังต่างๆ เพื่อให้เข้ากับตัวของบุคคลที่จะตั้งชื่อด้วยหลักนี้มากที่สุด

ขอขอบคุณที่มา : อายตนะ 6

อจินไตย 4

อจินไตย คือ สิ่งที่ไม่ควรคิด หรือหมายถึง สิ่งที่มนุษย์ทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้ด้วยตรรกะสามัญปุถุชนธรรมดา



อจินไตยมี 4 อย่างได้แก่
1. พุทธวิสัย
พุทธวิสัย หมายถึง วิสัยแห่งความมหัศจรรย์และความรู้ความสามารถของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
2. ฌานวิสัย
ฌานวิสัย หมายถึง วิสัยแห่งอิทธิฤทธิ์ของผู้มีฌาน ทั้งมนุษย์และเทวดา ซึ่งสามารถเข้าฌานนั่งอยู่เฉยๆได้เป็นวันๆ โดยที่ไม่ต้องกินข้าวไม่ต้องหลับไม่ต้องนอน และไม่มีอาการเมื่อยขบแต่อย่างใด
3. กรรมวิสัย
กรรมวิสัย หมายถึง วิสัยของกฎแห่งกรรมและวิบากกรรม คือการให้ผลของกรรมที่สามารถติดตามไปได้ทุกชาติ รวมถึงเรื่องการรับรู้ความเป็นมาของตนในชาติภพต่างๆ
4. โลกวิสัย
โลกวิสัย หมายถึง วิสัยแห่งโลก คือการมีอยู่ของสวรรค์ นรก และสังสาระวัฏ รวมถึงเรื่องความเป็นมาของโลกว่าเกิดเมื่อไหร่ เกิดอย่างไร เป็นต้น

ในทางพุทธศาสนาถือว่าเรื่องอจินไตย เป็นเรื่องที่เกินกว่าสามัญชนคนธรรมดาอย่างเราๆจะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง จนบางครั้งเกินกว่าสติปัญญาของคนทั่วไปจะเข้าใจได้ คิดมาก อยากรู้มาก จะทำให้เป็นบ้าได้ แต่อจินไตยนี้สามารถรับรู้ได้ด้วยการบรรลุธรรมขั้นสูงเท่านั้น

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า…
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัย ของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน ฯ

ขอขอบคุณที่มา : www.เกร็ดความรู้.net

พระไตรปิฎก

พระไตรปิฎก คือ ตำราหรือคัมภีร์ที่บันทึกหรือจารึกคำสอนขององค์พระสัมมาพระพุทธเจ้าที่ถูกนำมาจัดไว้เป็นหมวดหมู่ต่างๆ โดยประกอบด้วยเนื้อหาใจความหลักๆ อยู่ 3 หมวดใหญ่ๆ ได้แก่ พระวินัยปิฎก, พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก โดยเป็นธรรมะที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ตลอด 45 พรรษา ที่ทรงได้แสดงพระธรรมเทศนาให้แก่ทุกคนโดยไม่เกี่ยงว่าคนนั้นคือผู้ใดอยู่วรรณไหน หรือยากดีมีจนเช่นไร และสืบทอดมายังพระสาวกตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งเราคนไทยต่างคุ้นเคยหรือเคยได้ยินชื่อพระไตรปิฎกกันมาแล้วตั้งแต่ตอนเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในชั้นประถมฯ หรือมัธยมฯ โดยพระไตรปิฎกนี้เรียกว่ามีความสำคัญแก่คนไทยและชาวพุทธอย่างยิ่งเลยทีเดียว



โดยคำว่า พระไตรปิฎก มีความหมายว่า 3 คัมภีร์ ซึ่งคำว่า พระ เป็นคำที่ยกย่องหรือแสดงความเคารพ ส่วนคำว่า ไตรี แปลตรงตัวว่า สาม และคำว่า ปิฎก แปลว่า ตำรา, คัมภีร์, กระจาด หรือตะกร้า โดยรวมๆ ก็หมายถึงเป็นการรวมคำสอนขององค์พระพุทธเจ้าเอาไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อไม่ให้กระจัดกระจาย เหมือนการนำตะกร้าหรือกระจาดมารองไว้เป็นภาชนะนั่นเอง

หมวดหมู่โครงสร้างพระไตรปิฎกมี 3 หมวด ได้แก่
1. พระวินัยปิฎก เป็นพระวินัยสิกขาบทต่างๆ ของทั้งพระภิกษุและภิกษุณี
2. พระสุตตันตปิฎก เป็นพระสูตรซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ที่ประมวลออกมาเป็นเรื่องๆ โดยมีเรื่องราวประกอบ ตลอดจนภาษิต และชาดก ที่ทรงได้แสดงธรรมแก่บุคคลต่างๆ ทุกชนชั้น โดยไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะใดๆ ซึ่งมีทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง
3. พระอภิธรรมปิฎก เป็นพระธรรมขั้นสูงที่ประกอบด้วยหลักวิชาธรรมะล้วนๆ โดยไม่มีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์และบุคคลใดๆ โดยแบ่งออกเป็นหมวดๆ ข้อๆ

ซึ่งพระไตรปิฎกนี้นอกจากจะมีความสำคัญต่อคนไทยและชาวพุทธทั้งหลายแล้ว ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีอยู่ของพระพุทธศาสนาอีกด้วย เรียกว่าเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรสงวนและรักษาไว้เพื่อสืบต่อให้ลูกหลานเราได้เห็นและศึกษาถึงแก่นแท้ของพระธรรมคำสอนอย่างแท้จริง และเพื่อให้พุทธศาสนาคงอยู่ต่อไปได้อีกตราบนานเท่านาน และการนำธรรมะของพุทธองค์มาปฏิบัติย่อมทำให้เราได้รับทั้งพระธรรมคำสอนและคุณธรรมอย่างเต็มเปี่ยมในการดำเนินชีวิตต่อไปจวบจนถึงวันสิ้นลมหายใจนั่นเอง

ขอขอบคุณ : www.เกร็ดความรู้.net

ขันธ์ 5

ขันธ์ 5 คืออะไร

ขันธ์ 5 (เบญจขันธ์) เป็นหลักธรรมในศาสนาพุทธที่สอดคล้องกับเรื่องของ “ทุกข์” ตามหลักอริยสัจ 4 โดยหมายถึง กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมทั้ง 5 ที่ทำให้เกิดเป็นตันตนหรือชีวิตขึ้นมา หรืออาจพูดให้เข้าใจได้ง่ายว่า ส่วนประกอบ 5 อย่างที่รวมกันแล้วก่อให้เกิดเป็นคนและสัตว์ขึ้นมานั่นเอง



ขันธ์ 5 ประกอบด้วยอะไรบ้าง
ขันธ์ 5 ประกอบด้วยกองรูปธรรม และนามธรรมทั้ง 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งสามารถแยกออกเป็น 1 รูป และ 4 นาม ดังต่อไปนี้

1. รูปขันธ์ หมายถึง กองรูป ส่วนที่เป็นร่างกาย พฤติกรรม คุณสมบัติต่างๆ ของร่างกาย และส่วนประกอบที่เป็นรูปธรรมทั้งหมด
2. เวทนาขันธ์ หมายถึง กองเวทนา ส่วนที่เป็นความรู้สึกทุกข์ สุข ดีใจ พอใจ
3. สัญญาขันธ์ หมายถึง กองสัญญา ส่วนที่เป็นการจำสิ่งที่ได้รับ
4. สังขารขันธ์ หมายถึง กองสังขาร ส่วนที่เป็นการคิดปรุงแต่ง โดยสามารถแยกแยะสิ่งที่รู้สึกหรือจดจำได้
5. วิญญาณขันธ์ หมายถึง กองวิญญาณ หรือ จิต เป็นการรู้แจ้งถึงสิ่งต่างๆ ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

โดยรูปขันธ์จะจัดเป็นรูปเพราะเกี่ยวกับส่วนที่มีตัวตน ส่วนเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์จะจัดเป็น 4 นามขันธ์ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม 4 ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นความคิดและความรู้สึกนั่นเอง

ขันธ์ 5 เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันอย่างไร…?
ซึ่งหลักธรรมคำสอนเรื่อง “ขันธ์ 5” จะมุ่งเน้นสอนในเรื่องสังขารเป็นหลัก โดยให้มองเห็นความเป็นจริงของสังขารว่านั้นเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา ไม่มีความเที่ยงและก่อให้เกิดทุกข์หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นในตนเอง ดังนั้นเมื่อสังขารเกิดขึ้นมาก็ย่อมมีวันสูญสลายไปตามกาลเวลา
ดังนั้นขันธ์ 5 จึงหมายถึง กองนามธรรมและรูปธรรม 5 อย่างที่ก่อให้เกิดชีวิตที่เรียกว่า สังขารขึ้นมาขึ้นมา โดยประกอบด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่รวมกันกลายเป็นชีวิต สามารถแยกออกได้เป็นส่วนที่เป็นรูปคือร่างกาย และส่วนที่เป็นนามคือส่วนที่เป็นความคิดและความรู้สึกที่ก่อให้เกิดทุกข์นั่นเอง

ขอขอบคุณ : www.เกร็ดความรู้.net

วันสำคัญทางพุทธศาสนา


วันสำคัญทางพุทธศาสนา มีดังนี้



1. วันมาฆบูชา
วันมาฆะบูชา คือวันเพ็ญเดือน 3 หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 มาฆบูชา ย่อมาจาก “มาฆปูรณมีบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย วันมาฆะบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมของพระสงฆ์สาวกจำนวน 1,250 รูป โดยพระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาหรือได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากองค์พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น

2. วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา คือวันเดือนเพ็ญเดือน 6 หรือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชานับได้ว่าเป็นวันสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ 3 เหตุการณ์สำคัญคือ คือการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ โดยที่องค์การสหประชาขาติได้ประกาศให้วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลก หรือที่เรียกว่า วันสากลทางพระพุทธศาสนา

3. วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา หรือ วันอาสาฬหปูรณมีบูชา ตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชามีความสำคัญคือ เป็นวันที่พระพุทธองค์แสดงพระธรรมเป็นครั้งแรก เรียกว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 และหนึ่งในปัญจวัคคีย์คือท่านอัญญาโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรมและบรรลุธรรมชั้นโสดาบัน และท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงบวชให้แบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ดังนั้นจึงนับได้ว่าวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เกิดขึ้นครบถ้วนครั้งแรกในโลก
วัตรปฏิบัติปกติของชาวพุทธเมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนานั้น นิยมที่จะทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม และเวียนเทียนรอบอุโบสถ ถือศีล ทาจิตใจให้บริสุทธิ์ ทำทาน เป็นต้น

ขอขอบคุณที่มา : www.เกร็ดความรู้.net

ธรรมะกับชีวิต


ธรรมะกับชีวิต เป็นสิ่งที่ดำเนินไปด้วยกันตลอดเวลา ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ถ้าการดำเนินชีวิตประจำวันของเราปราศจากหลักธรรมะที่ดีแล้ว ย่อมทำให้ชีวิตดำเนินไปด้วยความยากลำบาก ไม่ราบรื่น ตลอดจนไม่มีหลักยึดที่ดีที่ถูกต้อง หลักธรรมะกับชีวิตประจำวันของเรามีอะไรบ้าง



หลักธรรมะกับชีวิตประจำวัน
– ศีล 5
– อริยสัจ 4
– พรมวิหาร 4
– กุศลกรรมบถ 10
– กถาวัตถุ 10
– กัลยาณมิตรธรรม 7
– กัลยาณธรรม
– บารมี 10
– มรรค 8
– อินทรีย์ 5
– สัจจะ
– ทาน
– มิจฉาทิฐิ
– หิริโอตตัปปะ
– กายทุจริต 3
– สัมมัปปธาน 4
– อนุสสติ 10
– อบายมุข 6
– จักรวรรดิวัตร 12
– สัมมัปปธาน 4
– โพชฌงค์ 7
– พละ 5
– กฏไตรลักษณ์
– ขันธ์ 5
– มงคลชีวิต 38
– สังคหวัตถุ 4
– นิวรณ์ 5
– ทศพิศราชธรรม 10
– พรหมวิหาร 4
– อิทธิบาท 4

จะเห็นว่าหลักธรรมะกับชีวิตด้านบน เป็นหลักที่เราทุกคนสามารถนำมาใช้ นำมาปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวันของเราเอง นอกจากชีวิตของเราจะสามารถดำเนินไปได้อย่างปกติสุขแล้ว จะยังสามารถทำให้คนรอบข้างและสังคมที่เราอยู่ประสบแต่ความสุขและความเจริญไปด้วย…

ขอขอบคุณที่มา : ธรรมะกับชีวิต

กุศลกรรมบถ 10

กุศลกรรมบถ 10 แบ่งออกเป็น 3 หมวด ดังนี้

1. กายกรรม 3 ประการ
1. ไม่ฆ่าหรือทำลายชีวิตผู้อื่น
2. ไม่ลักขโมย หรือยึดเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน
3. ไม่ประพฤติผิดในกาม



2. วจีกรรม 4 ประการ
4. ไม่พูดเท็จ
5. ไม่พูดส่อเสียด
6. ไม่พูดคำหยาบคาย
7. ไม่พูดเพ้อเจ้อ

3. มโนกรรม 3 ประการ
8. ไม่โลภอยากได้ของคนอื่น
9. ไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น
10. เห็นชอบตามคลองธรรม


ขอขอบคุณที่มา : www.เกร็ดความรู้.net

กัลยาณธรรม


กัลยาณธรรม หมายถึง คุณธรรมที่ดีงาม ธรรมที่เป็นหลักปฏิบัติของกัลยาณชน ธรรมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นกัลยาณชน ผู้ประพฤติกัลยาณธรรมเป็นปกตินอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณชนแล้ว ชีวิตของผู้นั้นย่อมสงบสุข ไม่มีเวรภัย ไม่มีศัตรู



กัลยาณธรรมเป็นหลักปฏิบัติเบื้องต้นของมนุษย์ ที่ทำให้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ และทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์โลกประเภทอื่น บางครั้งจึงเรียกกัลยาณธรรมว่า มนุษยธรรม

ซึ่งโดยหลักของกัลยาณธรรมนี่เอง เราจึงสามารถกล่าวได้ว่ากัลยาณธรรมก็คือศีล 5 หรือเบญจศีลนั่นเอง ซึ่งประกอบไปด้วย

1. ละเว้นจากฆ่าสัตว์
2. ละเว้นจากลักทรัพย์
3. ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4. ละเว้นจากพูดเท็จ
5. ละเว้นจากดื่มสุราเมรัย

บารมี แปลว่า กำลังใจ


บารมี แปลว่า กำลังใจ

คนที่มีบารมีมาก ก็คือคนที่มีกำลังของใจมาก
คนที่มีกำลังของใจมาก ทุกข์ก็ไม่อาจท่วมทับหัวใจ
คนที่มีเมตตาบารมีมากใจนุ่มนวลด้วยกระแสเมตตา ก็โกรธยาก เป็นมิตร เป็นที่รักของคนทั่วไป
คนที่มีทานบารมีมาก มีกำลังใจในการสละออกให้ผู้อื่น ด้วยจิตอนุเคราะห์ จิตใจก็กว้างขวางสวยงาม
คนที่มีขันติบารมีมาก ใจทนทานมากต่อกิเลสที่มากระทบ มีสติปัญญาในการพ้นความครอบงำของกิเลส ก็ย่อมเป็นที่ยกย่อง แก้ปัญหาต่างๆด้วยความฉลาด
คนที่มีวิริยะบารมีมาก มีความเพียรเหนือความขี้เกียจ เหนือข้ออ้างใดๆของกิเลส ย่อมก้าวหน้าเรื่อยไป ฯลฯ
สรุป บารมีจำเป็นทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ไม่ว่าจะปราถนาอะไรทั้งทางโลกทางธรรม
คนที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ทุกคนล้วนต้องมีบารมี
อาจจะไม่ครบทุกข้อ แต่ยังไงก็ต้องมี

บารมีมีทั้งหมด 10 อย่าง
เหมือนดั่ง โพธิสัตว์ ผู้ซึ่งปราถนาเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตต้องสะสมบารมี เช่นอดีตชาติของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน พระมหาชนก พระเวสสันดร เคยบำเพ็ญมา

บารมี 10 หรือ ทศบารมี (ปฏิปทาอันยวดยิ่ง, คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นมหาสาวก เป็นต้น — perfections)

1. ทาน (การให้ การเสียสละ — giving; charity; generosity; liberality)
2. ศีล (การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, ความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย — morality; good conduct)
3. เนกขัมมะ (ความปลีกตัวปลีกใจจากกาม,การออกบวช — renunciation)
4. ปัญญา (ความรอบรู้, ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง — wisdom; insight; understanding)
5. วิริยะ (ความเพียร, ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบากบั่นอุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่ — energy; effort; endeavour)
6. ขันติ (ความอดทน, ความทนทานของจิตใจ สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประะพฤติ ที่ตั้งไว้เพื่อจุดหมายอันชอบไม่ลุอำนาจกิเลส — forbearance; tolerance; endurance)
7. สัจจะ (ความจริง คือ พูดจริง ทำจริง และจริงใจ — truthfulness)
8. อธิษฐาน (ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นแน่นแน่ — resolution; self-determination)
9. เมตตา (ความรักใคร่, ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นและเพื่อนร่วมโลกทั้งปวงมีความสุขความเจริญ — loving-kindness; friendliness)
10. อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง, ความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้ายหรือชอบฟัง — equanimity; indifference to praise and blame in the performance of duty)

ทศบารมีนี้ เรียงตามที่ถือว่าได้บำเพ็ญในทศชาติ (จัดแบบไทย) ดังนี้
1. พระเตมีย์ — เนกขัมมะ (ข้อที่ 3)
2. พระมหาชนก — วิริยะ (5)
3. พระสุวรรณสาม — เมตตา (9)
4. พระเนมิราช — อธิษฐาน (8)
5. พระมโหสถ — ปัญญา (4)
6. พระภูริทัตต์ — ศีล (2)
7. พระจันทกุมาร — ขันติ (6)
8. พระนารท — อุเบกขา (10)
9. พระวิธุร — สัจจะ (7)
10. พระเวสสันดร — ทาน (1)

ทุกข์ย่อมเกิดกับผู้ที่ยังมีกำลังของใจไม่เพียงพอ
กิเลสจะหลอกให้มีทุกข์อะไรก็ตาม สติปัญญาเหยียบมันขึ้นไป ชีวิตมันก็สูงขึ้นทุกวัน


ป้ายกำกับ