ประวัติหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดบ้านไร่

ประวัติหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา กับเส้นทางชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ก่อนเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์



  หลวงพ่อคูณ แห่งวัดบ้านไร่ เป็นชื่อที่ติดหู และได้รับความสนใจของคนไทยมานานหลายสิบปี ด้วยความที่หลวงพ่อท่านเป็นพระที่มากด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นท่านั่งยอง หรือการพูดจากภาษาพ่อขุนรามคำแหง แต่สิ่งที่นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้คนมักนึกถึงหลวงพ่อคูณ คงหนีไม่พ้นเครื่องรางของขลัง และหลักคำสอนแบบตรงไปตรงมาที่แฝงไว้ด้วยหลักธรรมอันลึกซึ้งให้ผู้คนนำไปยึดเป็นแนวทางดำเนินชีวิต และชีวประวัติอันเต็มไปเรื่องราวอันน่าสนใจมากมาย

ประวัติของพระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทโธ) แห่งวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งภาคอีสาน เกิดในครอบครัวชาวนา ที่บ้านไร่ หมู่ที่ 6 ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ซึ่งในขณะนั้นนับว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ หลวงพ่อคูณ ท่านเกิดเมื่อ 14 ตุลาคม 2466 (แต่บางตำราว่าวันที่ 4 ตุลาคม) ตรงกับวันแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน โดยเป็นบุตรชายคนโตหัวปีของนายบุญ ฉัตรพลกรัง (บิดา) และนางทองขาว ฉัตรพลกรัง (มารดา) โดยมีพี่น้อง 2 คน ได้แก่ นายคำมั่น แจ้งแสงใส และนางทองหล่อ เพ็ญจันทร์

หลวงพ่อคูณ ได้เข้าเรียนหนังสือกับ พระอาจารย์เชื่อม วิรโธ พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ซึ่งได้เรียนทั้งภาษาไทยและภาษาขอม ที่วัดบ้านไร่ ซึ่งเป็นสถานการศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน ตั้งแต่อายุประมาณ 6-7 ขวบ โดยได้ศึกษาภาษาไทยและขอม นอกจากนี้พระอาจารย์ทั้ง 3 ยังเมตตาสอนวิชาคาถาอาคมป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้แก่หลวงพ่อคูณด้วย ด้วยเหตุนี้หลวงพ่อคูณจึงมีความเชี่ยวชาญวิชาอาคมต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก

เมื่ออายุครบ 21 ปีก็ได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2487 ตรงกับวันศุกร์ เดือน 6 ปีวอก (หนังสือบางแห่งระบุว่าเป็นปี 2486) โดยมีพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์ ก็คือพระอาจารย์สุข วัดโคกรักษ์ โดยหลังจากที่อุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้วได้รับฉายาว่า "ปริสุทโธ" และฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาอย่างเคร่งครัด และทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์พระคณาจารย์ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก

จากนั้นหลวงพ่อคูณก็ได้ตั้งใจร่ำเรียนพระธรรมวินัย และอยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร ก่อนที่หลวงพ่อแดงจะพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ "หลวงพ่อคง พุทธสโร" เนื่องจากทั้งสองรูปเป็นเพื่อนที่มักมีการพบปะแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิชาอาคมต่าง ๆ แก่กันเสมอ จากนั้นหลวงพ่อคง ผู้ทรงคุณทั้งทางธรรม และทางไสยเวทย์ ก็ได้สอนวิชาต่าง ๆ ให้กับหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ด้วยความรักใคร่มิได้ปิดบังอำพรางแต่อย่างใด โดยใช้วิธีการสอนโดยการศึกษาพระธรรมควบคู่กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เน้นการมี "สติ" ระลึกรู้ พิจารณาอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบและให้เกิดความรู้เท่าทันในอารมณ์นั้น

พร้อมกับสอนพระกัมมัฏฐานโดยให้ใช้หมวดอนุสติ ด้วยการกำหนด “ความตาย” เป็นอารมณ์ เรียกว่า “มรณัสสติ” เพื่อให้ เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงในอารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ประมาทในความโลภ ความโกรธ และความหลง กระทั่งหลวงพ่อคงเห็นว่า หลวงพ่อคูณมีความรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป

          โดยในช่วงแรกหลวงพ่อคูณก็ได้เดินธุดงค์ จาริกอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจึงได้มีการธุดงค์ไกลขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงป่าลึกประเทศลาว และประเทศกัมพูชา  เพื่อทำความเพียรให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้นจากกิเลส ตัณหา และอุปทานทั้งปวง เมื่อพิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณธุดงค์จากเขมร กลับมายังประเทศไทย เดินข้ามเขตด้านจังหวัดสุรินทร์ สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่

           พร้อมกับเริ่มก่อสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ โดยเริ่มสร้างอุโบสถในปี พ.ศ. 2496 จากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่ได้ช่วยกันเข้าป่าตัดไม้ จนสามารถสร้างพระอุโบสถจนสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันอุโบสถหลังดังกล่าวได้ถูกรื้อลงและก่อสร้างหลังใหม่แทนแล้ว นอกจากนี้หลวงพ่อยังได้สร้างโรงเรียน กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งขุดสระน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ขึ้น เพื่อพัฒนาความเจริญของพื้นที่บ้านไร่ และตามมาด้วยการก่อสร้างโรงพยาบาลถึง 3 หลัง และโรงเรียนอื่น ๆ อีกจำนวนมาก พร้อมทั้งยังได้บริจาคเงินทองเพื่อช่วยเหลือสาธารณสุขต่าง ๆ อยู่เสมอ

  ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้หลวงพ่อคูณเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากนั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องการสร้างวัตถุมงคล โดยตามประวัติพบว่าท่านเคยสร้างวัตถุมงคลรุ่นแรกตั้งแต่สมัยบวชได้ประมาณ 7 พรรษา โดยเริ่มจากตะกรุดโทน ตะกรุดทองคำ เพื่อฝังที่ใต้ท้องแขน ณ วัดบ้านไร่ ราว พ.ศ. 2493 โดยท่านบอกกับผู้มาขอเสมอว่า "ใครขอ กูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน" ปัจจุบันพระเครื่องหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ นั้นเป็นที่นิยมและต้องการของลูกศิษย์และนักสะสมพระเครื่องอย่างมาก หลาย ๆ รุ่นมีราคาแพงมากโดยเฉพาะเหรียญหลวงพ่อคูณรุ่นแรก ส่วนเรื่อง "เครื่องรางของขลัง" ของหลวงพ่อคูณคงต้องยกให้ ตะกรุดทองคำหลวงพ่อคูณ ซึ่งจะเป็นตะกรุดทองคำฝังแขน ซึ่งท่านจะมีข้อห้าม 2 ข้อ คือ 1. ห้ามด่าแม่ 2. ห้ามผิดลูกเมียผู้อื่น นับว่าเป็น เครื่องรางของขลังหลวงพ่อคูณ ที่น่าสนใจมาก

           อย่างไรก็ดี จากประวัติอันน่าสนใจทั้งเรื่องของความแก่กล้าในวิชาอาคม และความแตกฉานในความรู้ด้านพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ ทำให้ท่านได้รับฉายาว่า "ปราชญ์แห่งที่ราบสูง" แม้จะมีท่าทีการแสดงออกที่ตรงไปตรงมาพูดจามึงกู แต่ผู้ใกล้ชิดทุกคนกลับทราบดีว่าหลวงพ่อคูณนั้นมีจิตเมตตาเป็นอย่างยิ่ง ไม่เคยมีใครพบเห็นหลวงพ่อคูณกราดเกรี้ยว หรือทุกขเวทนากับเหตุการณ์ต่าง ๆ สิ่งที่หลวงพ่อคูณแสดงออกมาทุกครั้งในการให้สัมภาษณ์หรือสนทนาธรรม ได้แสดงให้เห็นว่า ท่านนั้นมีจิตที่แจ่มใส หมดสิ้นแล้วซึ่งกิเลส เป็นที่พึ่งทางธรรมให้แก่ญาติโยมทุกคนอย่างแท้จริง

ที่มา : https://hilight.kapook.com

ป้ายกำกับ