วันอาสาฬหบูชา วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา   ( บาลี:   อาสาฬหปูชา ;   อักษรโรมัน: Asalha Puja)
เป็น วันสำคัญทางศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท และวันหยุดราชการใน ประเทศไทย 
คำว่า   อาสาฬหบูชา   ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า
"การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตาม ปฏิทิน
ของ ประเทศอินเดีย   ตรงกับ วันเพ็ญ   เดือน ๘ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย
ซึ่งมักจะตรงกับ เดือนมิถุนายน หรือ เดือนกรกฎาคม   แต่ถ้าใน ปีใดมีเดือน ๘ สองหน 
ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน ๘ หลังแทน



วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ ๔๕ ปี ก่อน พุทธศักราช 
ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ
ณ   ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมือง พาราณสี   แคว้นมคธ   อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรง
แสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ   ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร   แก่ปัญจวัคคีย์

การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ ๑ ใน ๕   ปัญจวัคคีย์ 
เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรม
หรือบรรลุเป็น พระอริยบุคคล ระดับ โสดาบัน   ท่านจึงขอ อุปสมบท
ในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา   พระอัญญาโกณฑัญญะ
จึงกลายเป็น พระสงฆ์ องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรม
เป็นพระอริยบุคคล ( อนุพุทธะ)เป็นคนแรก๖

จึงทำให้ในวันนั้นมี พระรัตนตรัย ครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก
คือ มีทั้ง พระพุทธ   พระธรรม และ พระสงฆ์   ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม"
หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก
และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย

เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน ๘ หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธ เถรวาท มาก่อน
จนมาในปี   พ.ศ. ๒๕๐๑ การบูชาในเดือน ๘ หรือวันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย
ตามที่ คณะสังฆมนตรี   ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
เมื่อ   พ.ศ. ๒๕๐๑   โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทาง พุทธศาสนา
ในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ   พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี)   โดยคณะสังฆมนตรี
ได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายก เมื่อวันที่   ๑๔ กรกฎาคม   พ.ศ. ๒๕๐๑

กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชา
ขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับ วันวิสาขบูชา
อันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล

อย่างไรก็ตาม วันอาสาฬหบูชาถือเป็นวันสำคัญที่กำหนดให้กับวันหยุดของรัฐ
เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอื่น ๆ
ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชาเทียบเท่ากับ วันวิสาขบูชา

ความสำคัญ
วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เป็นครั้งแรก
จึงถือได้ว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นประกาศ พระพุทธศาสนา แก่ชาวโลก
และด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถ แสดง เปิดเผย ทำให้แจ้ง
แก่ชาวโลก ซึ่งพระธรรมที่ตรัสรู้ได้ จึงถือได้ว่าพระองค์

ได้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์
คือทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็น "สัมมาสัมพุทธะ"
คือเป็นพระพุทธเจ้าผู้สามารถแสดงสิ่งที่ตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตามได้
ซึ่งแตกต่างจาก " พระปัจเจกพุทธเจ้า" ที่แม้จะตรัสรู้เองได้โดยชอบ
แต่ทว่าไม่สามารถสอนหรือเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ตามได้
ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระธรรม"

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่ท่าน โกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรม
สำเร็จพระ โสดาบัน เป็น พระอริยบุคคล คนแรก และ
ได้รับประทานเอหิภิกขุ อุปสมบทเป็น พระสงฆ์ องค์แรกในพระศาสนา
และด้วยการที่ท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรก
ในโลกดังกล่าว พระรัตนตรัยจึงครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก

ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระสงฆ์"
ดังนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวัน
ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาดังกล่าว ซึ่งควรพิจารณา
เหตุผลโดยสรุปจากประกาศสำนักสังฆนายกเรื่องกำหนดพิธีอาสาฬหบูชา
ที่ได้สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาไว้โดยย่อ ดังนี้

เหตุการณ์สำคัญ
ที่เกิดในวันอาสาฬหบูชาในพระพุทธประวัติ
หลังจากได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖   ณ   ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แล้ว
พระองค์ได้ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่บริเวณ สัตตมหาสถาน โดยรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลาถึง ๗ สัปดาห์

และในขณะทรงนั่งประทับเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๕ หลังการตรัสรู้ ภายใต้ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ได้ทรงมานั่งคำนึงว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของลึกซึ้ง คนจะรู้และเข้าใจตามได้ยาก
ตามความในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ว่า

... บัดนี้ ไม่สมควรที่เราจะประกาศธรรมที่เราตรัสรู้ เพราะธรรมที่เราตรัสรู้นั้น
เป็นสิ่งที่คนทั่วไป ที่ถูกราคะ โทสะครอบงำอยู่จะไม่สามารถมองเห็นได้โดยง่าย ,
คนที่ถูกราคะย้อมไว้ ถูกกองมืด (คืออวิชชา) หุ้มไว้มิดทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถ
ที่จะเข้าใจธรรมะของเรา ที่เป็นสิ่งทวนกระแส (อวิชชา) ที่มีสภาพลึกซึ้ง ละเอียดเช่นนี้ได้เลย...

(มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม)

ขอขอบคุณที่มา : http://www.watpamahachai.net ,  dhammathai.org, วิกิพีเดีย

วันวิสาขบูชา หรือ วันเพ็ญเดือน 6

วันวิสาขบูชา หรือ วันเพ็ญเดือน 6 นับเป็นวันที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนามากถึง 3 เหตุการณ์ คือ เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "วันพระพุทธเจ้า"
วันวิสาขบูชา (บาลี: วิสาขปุณฺณมีปูชา; อังกฤษ: Vesak) เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ[1] เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธ 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระโคตมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย โดยในประเทศไทย ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 แต่ประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม[2] ส่วนในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกายที่นับถือว่า เหตุการณ์ทั้ง 3 นั้นเกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ซึ่งไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท[3]
วันวิสาขบูชา นั้นได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จธรรมไชยโย" ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน
วิสาขบูชา มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่า "พุทธชยันตี" (Buddha Jayanti) เช่นใน ประเทศอินเดียและประเทศศรีลังกา ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากที่สุด) ในฝ่ายของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับคติการปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชามาจากลังกา (ประเทศศรีลังกา) ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดพิธีวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก[4] (ซึ่งไม่เหมือนวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย, ลาว, และกัมพูชา) และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" (International Day) ตามข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 54/112 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันคล้ายวันที่ "ประสูติ" ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ "ตรัสรู้" เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงกอปรไปด้วย "พระบริสุทธิคุณ", "พระปัญญาคุณ" ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือ ความจริงของโลก แก่ชนทั้งปวงโดย "พระมหากรุณาธิคุณ" จวบจนทรง "เสด็จดับขันธปรินิพพาน" ในวาระสุดท้าย ทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องในวันเพ็ญเดือน 6 นี้ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน.
ความสำคัญในวันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชาเป็นวันที่ระลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (เดือน 6) ตรงกันทั้ง 3 คราว คือ
เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวันระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ
เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
หลังจากตรัสรู้ ทรงออกประกาศพระธรรมวินัยและโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา 45 ปี เมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็ เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย)
เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นตรงกันในวันเพ็ญ เดือน 6 ชาวพุทธจึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วันวิสาขบูชา" ซึ่งแปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนหก (บางแห่งเรียกว่า วันพระพุทธเจ้า หรือ พุทธชยันตี)
กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติ ในวันวิสาขบูชา
ในวันวิสาขบูชานี้ ถือเป็นวันสำคัญยิ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกจะมารวมกันจัดพิธีทำบุญใหญ่หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบำเพ็ญกุศลระลึกถึงพระพุทธเจ้า[4] ซึ่งในฐานะที่วันวิสาขบูชาได้รับการยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากลของโลก เมื่อถึงวันวิสาขบูชา องค์การสหประชาชาติจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วย เช่น สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการอัญเชิญพระเจดีย์วิสาขบูชานุสรณ์ สกลโลกประกาศบูชาวันวิสาขะ (ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ) ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติเป็นการถาวร มาประดิษฐานให้ประชาชนสักการบูชา เป็นต้น[45]
สำหรับในประเทศไทย นอกจากพุทธศาสนิกชนจะเข้าวัดบำเพ็ญบุญกุศลถือศีลฟังธรรมแล้ว ยังนิยมปล่อยนกปล่อยปลา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในตอนค่ำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วย
วันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ตั้งใจรักษาศีล 5 ศีล 8 งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ทำบุญถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น[46]
โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันวิสาขบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันวิสาขบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้
บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ 3 จบ)
บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
บทสวดบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:ยะมัมหะ โข ฯลฯ)[47]

จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี

ที่มา เพจ Facebook  พระพุทธเจ้า 

ประวัติหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดบ้านไร่

ประวัติหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา กับเส้นทางชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ก่อนเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์



  หลวงพ่อคูณ แห่งวัดบ้านไร่ เป็นชื่อที่ติดหู และได้รับความสนใจของคนไทยมานานหลายสิบปี ด้วยความที่หลวงพ่อท่านเป็นพระที่มากด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นท่านั่งยอง หรือการพูดจากภาษาพ่อขุนรามคำแหง แต่สิ่งที่นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้คนมักนึกถึงหลวงพ่อคูณ คงหนีไม่พ้นเครื่องรางของขลัง และหลักคำสอนแบบตรงไปตรงมาที่แฝงไว้ด้วยหลักธรรมอันลึกซึ้งให้ผู้คนนำไปยึดเป็นแนวทางดำเนินชีวิต และชีวประวัติอันเต็มไปเรื่องราวอันน่าสนใจมากมาย

ประวัติของพระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทโธ) แห่งวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งภาคอีสาน เกิดในครอบครัวชาวนา ที่บ้านไร่ หมู่ที่ 6 ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ซึ่งในขณะนั้นนับว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ หลวงพ่อคูณ ท่านเกิดเมื่อ 14 ตุลาคม 2466 (แต่บางตำราว่าวันที่ 4 ตุลาคม) ตรงกับวันแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน โดยเป็นบุตรชายคนโตหัวปีของนายบุญ ฉัตรพลกรัง (บิดา) และนางทองขาว ฉัตรพลกรัง (มารดา) โดยมีพี่น้อง 2 คน ได้แก่ นายคำมั่น แจ้งแสงใส และนางทองหล่อ เพ็ญจันทร์

หลวงพ่อคูณ ได้เข้าเรียนหนังสือกับ พระอาจารย์เชื่อม วิรโธ พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ซึ่งได้เรียนทั้งภาษาไทยและภาษาขอม ที่วัดบ้านไร่ ซึ่งเป็นสถานการศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน ตั้งแต่อายุประมาณ 6-7 ขวบ โดยได้ศึกษาภาษาไทยและขอม นอกจากนี้พระอาจารย์ทั้ง 3 ยังเมตตาสอนวิชาคาถาอาคมป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้แก่หลวงพ่อคูณด้วย ด้วยเหตุนี้หลวงพ่อคูณจึงมีความเชี่ยวชาญวิชาอาคมต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก

เมื่ออายุครบ 21 ปีก็ได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2487 ตรงกับวันศุกร์ เดือน 6 ปีวอก (หนังสือบางแห่งระบุว่าเป็นปี 2486) โดยมีพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์ ก็คือพระอาจารย์สุข วัดโคกรักษ์ โดยหลังจากที่อุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้วได้รับฉายาว่า "ปริสุทโธ" และฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาอย่างเคร่งครัด และทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์พระคณาจารย์ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก

จากนั้นหลวงพ่อคูณก็ได้ตั้งใจร่ำเรียนพระธรรมวินัย และอยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร ก่อนที่หลวงพ่อแดงจะพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ "หลวงพ่อคง พุทธสโร" เนื่องจากทั้งสองรูปเป็นเพื่อนที่มักมีการพบปะแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิชาอาคมต่าง ๆ แก่กันเสมอ จากนั้นหลวงพ่อคง ผู้ทรงคุณทั้งทางธรรม และทางไสยเวทย์ ก็ได้สอนวิชาต่าง ๆ ให้กับหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ด้วยความรักใคร่มิได้ปิดบังอำพรางแต่อย่างใด โดยใช้วิธีการสอนโดยการศึกษาพระธรรมควบคู่กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เน้นการมี "สติ" ระลึกรู้ พิจารณาอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบและให้เกิดความรู้เท่าทันในอารมณ์นั้น

พร้อมกับสอนพระกัมมัฏฐานโดยให้ใช้หมวดอนุสติ ด้วยการกำหนด “ความตาย” เป็นอารมณ์ เรียกว่า “มรณัสสติ” เพื่อให้ เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงในอารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ประมาทในความโลภ ความโกรธ และความหลง กระทั่งหลวงพ่อคงเห็นว่า หลวงพ่อคูณมีความรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป

          โดยในช่วงแรกหลวงพ่อคูณก็ได้เดินธุดงค์ จาริกอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจึงได้มีการธุดงค์ไกลขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงป่าลึกประเทศลาว และประเทศกัมพูชา  เพื่อทำความเพียรให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้นจากกิเลส ตัณหา และอุปทานทั้งปวง เมื่อพิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณธุดงค์จากเขมร กลับมายังประเทศไทย เดินข้ามเขตด้านจังหวัดสุรินทร์ สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่

           พร้อมกับเริ่มก่อสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ โดยเริ่มสร้างอุโบสถในปี พ.ศ. 2496 จากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่ได้ช่วยกันเข้าป่าตัดไม้ จนสามารถสร้างพระอุโบสถจนสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันอุโบสถหลังดังกล่าวได้ถูกรื้อลงและก่อสร้างหลังใหม่แทนแล้ว นอกจากนี้หลวงพ่อยังได้สร้างโรงเรียน กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งขุดสระน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ขึ้น เพื่อพัฒนาความเจริญของพื้นที่บ้านไร่ และตามมาด้วยการก่อสร้างโรงพยาบาลถึง 3 หลัง และโรงเรียนอื่น ๆ อีกจำนวนมาก พร้อมทั้งยังได้บริจาคเงินทองเพื่อช่วยเหลือสาธารณสุขต่าง ๆ อยู่เสมอ

  ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้หลวงพ่อคูณเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากนั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องการสร้างวัตถุมงคล โดยตามประวัติพบว่าท่านเคยสร้างวัตถุมงคลรุ่นแรกตั้งแต่สมัยบวชได้ประมาณ 7 พรรษา โดยเริ่มจากตะกรุดโทน ตะกรุดทองคำ เพื่อฝังที่ใต้ท้องแขน ณ วัดบ้านไร่ ราว พ.ศ. 2493 โดยท่านบอกกับผู้มาขอเสมอว่า "ใครขอ กูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน" ปัจจุบันพระเครื่องหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ นั้นเป็นที่นิยมและต้องการของลูกศิษย์และนักสะสมพระเครื่องอย่างมาก หลาย ๆ รุ่นมีราคาแพงมากโดยเฉพาะเหรียญหลวงพ่อคูณรุ่นแรก ส่วนเรื่อง "เครื่องรางของขลัง" ของหลวงพ่อคูณคงต้องยกให้ ตะกรุดทองคำหลวงพ่อคูณ ซึ่งจะเป็นตะกรุดทองคำฝังแขน ซึ่งท่านจะมีข้อห้าม 2 ข้อ คือ 1. ห้ามด่าแม่ 2. ห้ามผิดลูกเมียผู้อื่น นับว่าเป็น เครื่องรางของขลังหลวงพ่อคูณ ที่น่าสนใจมาก

           อย่างไรก็ดี จากประวัติอันน่าสนใจทั้งเรื่องของความแก่กล้าในวิชาอาคม และความแตกฉานในความรู้ด้านพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ ทำให้ท่านได้รับฉายาว่า "ปราชญ์แห่งที่ราบสูง" แม้จะมีท่าทีการแสดงออกที่ตรงไปตรงมาพูดจามึงกู แต่ผู้ใกล้ชิดทุกคนกลับทราบดีว่าหลวงพ่อคูณนั้นมีจิตเมตตาเป็นอย่างยิ่ง ไม่เคยมีใครพบเห็นหลวงพ่อคูณกราดเกรี้ยว หรือทุกขเวทนากับเหตุการณ์ต่าง ๆ สิ่งที่หลวงพ่อคูณแสดงออกมาทุกครั้งในการให้สัมภาษณ์หรือสนทนาธรรม ได้แสดงให้เห็นว่า ท่านนั้นมีจิตที่แจ่มใส หมดสิ้นแล้วซึ่งกิเลส เป็นที่พึ่งทางธรรมให้แก่ญาติโยมทุกคนอย่างแท้จริง

ที่มา : https://hilight.kapook.com

ป้ายกำกับ