บทกรวดน้ำอุทิศผลบุญครอบจักรวาล โดย กัณฑพล



บทกรวดน้ำอุทิศผลบุญครอบจักรวาล โดย กัณฑพล
ข้าพเจ้าขออุทิศผนาผลบุญกุศลทิพย์นี้ที่ได้สั่งสมมา... นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และคุณความดีที่ได้กระทำในวันนี้
ข้าพเจ้าขอรวมความเป็นทิพย์ของผลบุญทั้งหมดนี้ เป็นมหาบุญทิพย์ น้อมถวายแด่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์,พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์,พระธรรมเจ้า ทุกพระสูตร,พระอริยสงฆ์ทุกพระองค์ พระสมมติสงฆ์ทุกรูป,เทพ พรหม พระโพธิสัตว์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกพระองค์ในบวรพุทธศาสนา และส่วนประกอบสำคัญของโลกธาตุ คือธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ โดยมีแม่พระธรณีเป็นที่สุด
ขอทุกท่านทุกพระองค์ได้อนุโมทนามหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า เมื่อทุกท่านทุกพระองค์สุขเกษมสำราญด้วยมุทิตาจิตแห่งบุญกุศลทิพย์นี้แล้ว ขอได้โปรดเมตตานำส่งมหาบุญทิพย์นี้กลับมายังที่ข้าพเจ้า ในกาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด
ข้าพเจ้าขออนุโมทนาความดีกับความสำเร็จของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ อนุโมทนาความดีกับความสำเร็จของพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ อนุโมทนาความดีกับความสำเร็จของธรรมเจ้าทุกพระสูตร อนุโมทนาความดีกับความสำเร็จของพระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทุกพระองค์ อนุโมทนาความดีกับความสำเร็จของเทพ พรหม พระโพธิสัตว์ที่เป็นสัมมาทิฏฐิในพุทธศาสนาทุกพระองค์ ขอพลังแห่งการอนุโมทนาอันบริสุทธิ์นี้เป็นผนึกกำลังอันยิ่งยวดในการแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้ส่งผลสำเร็จเป็นอัศจรรย์
ขออัญเชิญพระจัตตุโลก พระยมกทั้งสี่ อีกทั้งแม่พระธรณีโปรดเสด็จมาเป็นสักขีพยานและขอเมตตาเทพพรหมที่ดูแลจัดสรรกองบุญกองบาปของทุกดวงจิตวิญญาณและสรรพชีวิตในวัฎสงสาร ทุกภพทุกภูมิในอนันตจักรวาล โปรดเมตตาเปิดทางให้ข้าพเจ้าสามารถอุทิศมหาบุญทิพย์นี้เป็นผลสัมฤทธิ์ด้วยเถิด
ด้วยอำนาจอิทธิฤทธิ์ของทุกท่านทุกพระองค์และบุญฤทธิ์ของข้าพเจ้า ขอแปรเปลี่ยนบุญกุศลทั้งมวลกลายเป็นข้าวน้ำ เครื่องทิพย์นานา ปรับเปลี่ยนเหมาะสมกับผู้รับตามที่ปรารถนาและควรได้ตามธรรม ดังแก้วสารพัดนึก เรียกว่ามหาบุญทิพย์ ดังนี้แล
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ให้แก่บิดามารดาทุกภพทุกชาติตั้งแต่อดีตชาติถึงปัจจุบันชาติ พ่อซื้อแม่ซื้อ พ่อเกิดแม่เกิดเมืองบน พ่อเกิดแม่เกิดเมืองล่าง อีกทั้งตระกูลปู่ ตระกูลย่า ตระกูลตา ตระกูลยาย ตระกูลพ่อ ตระกูลแม่ ตระกูลพี่ ตระกูลน้อง คนรักในปัจจุบันและตระกูลของคนรัก ญาติพี่น้อง เชื้อสายโลหิตทั้งหมด ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า ขอทุกท่านโปรดรับความกตัญญูกตเวทีของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ให้แก่ดวงจิตดวงวิญญาณทั้งหลายที่จะมาเกิดเป็นลูกเป็นหลานแล้วไม่ได้มาเกิด(ในการเวียนว่ายตายเกิดที่ผ่านมา) ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า และได้โปรดงดเว้นซึ่งการจองเวรด้วยเถิด
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ถวายแด่ เทวดาประจำตัว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครอง ดูแลรักษาข้าพเจ้า ทั้งทราบนามและไม่ทราบนาม ทั้งที่ระลึกได้และระลึกไม่ได้ ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ถวายแด่ สัมมาธราจารย์ ครูบาอาจารย์ทุกภพชาติทุกวิชาในการเวียนว่ายที่ผ่านมา ตั้งแต่ครูพักลักจำ ครูตำรับครูตำรา ครูเลข ครูอักษร ครูภาษา ครูมนตรา ครูยันต์ ครูกาพย์กลอนครูกวี ครูดนตรีนาฏศิลป์ ครูหมอครูยา ครูช่างครูเกษตร ครูหมัดครูมวย ครูศาตราวุธ ครูพยากรณ์ครูโหราศาสตร์ ครูศิลปะ-วิทยาการทุกแขนง ครูสมาธิครูวิปัสสนากรรมฐาน ครูธรรมะปรัชญา รวมถึงปู่ฤาษี ทั้ง๑๐๘ พระองค์ ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า ขอทุกท่านทุกพระองค์โปรดรับความกตัญญูกตเวทีจากข้าพเจ้า และหากมีสิ่งใดที่มืดมิดขอให้สว่าง สิ่งที่คว่ำอยู่ขอให้เปิดหงาย ที่ไม่รู้ก็ขอให้รู้แจ้งโดยง่ายและรวดเร็วราวปาฏิหาริย์ทันการณ์
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ให้ เพื่อน มิตร สหาย ทั้งที่แท้และเทียม จงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า ด้วยพลังอำนาจแห่งมหาบุญทิพย์นี้ จงเป็นพรชัยมงคลแห่งความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ผู้ใดที่คิดดีทำดีต่อกันให้ดียิ่งๆขึ้นไป ตรงข้ามกันที่คิดไม่ดีขอให้กลับใจมาคิดดีทำดีต่อกัน จงเป็นอโหสิในอกุศลกรรมซึ่งกันและกัน นับแต่นี้ต่อไปจะมีสิ่งดีๆให้แก่กัน จงมีแต่กัลยาณมิตรแก้ว มาเป็นกำลังหนุนนำข้าพเจ้าในกิจการงานต่างๆ
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ให้ การงาน สัมมาอาชีพ ปัจจัยสี่ที่ได้กินได้ใช้ ยวดยานพาหนะ เครื่องมือสื่อสาร บริวาร ลูกจ้าง ลูกน้อง ลูกค้า คู่แข่งคู่ค้าคู่ขาย หุ้นส่วน ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า และขอพลังแห่งคุณความดีส่งผลให้ข้าพเจ้ามีความคล่องตัวในการงาน ธุรกิจที่ทำ มีความเจริญก้าวหน้าสูงสุด เติบโตขยายงานอย่างมั่นคง สมใจปรารถนาดังที่ตั้งไว้ด้วยกุศลธรรม
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ให้เจ้าที่ที่บ้าน เจ้าที่ที่ทำงาน เจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าทุ่งเจ้าท่า เจ้าทะเลเจ้าบาดาล เจ้าหนองน้ำ รุกขเทวดา นางไม้ แม่ตะเคียน ตลอดจนแม่ย่านางรถ-เรือ(ที่จอดไว้) ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า และโปรดมาช่วยสนับสนุนข้าพเจ้าในธุรกิจการงานให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีตามที่ปรารถนาอีกทั้งช่วยคุ้มครองป้องกัน เตือนภัยทุกรูปแบบ จากที่หนักให้เบา จากที่เบาให้หาย พ้นเคราะห์พ้นโศกได้ยิ่งดี
ในฐานะลูกหลานไทยผู้รู้สำนึกในคุณแผ่นดิน ว่ากว่าจะรวมชนชาติเป็นบึกแผ่นได้ ต้องเสียเลือดเสียเนื้อบรรพชนผู้กล้ามากมาย จึงขอโอกาสนี้ทดแทนด้วยมหาบุญทิพย์นี้
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ถวายแด่ บูรพกษัตริย์ไทย มีพ่อขุนผาเมือง พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามคำแหง พระเจ้าอู่ทอง พระนเรศวรมหาราช พระเอกาทศรถ พระนารายณ์มหาราช พระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
และวีรกษัตริย์ทุกๆ พระองค์ อันได้แก่ สมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา  รวมถึงบูรพกษัตริย์ไทยในอดีต และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทั้งที่เอ่ยพระนามและไม่เอ่ยพระนาม ทั้งที่ทราบพระนามและไม่ทราบพระนาม ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ถวายแด่ พระสยามเทวาธิราช พระหลักเมือง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ เจ้าหอกลอง รวมทั้งพรหม เทพ เทวดาน้อยใหญ่ที่ดูแลคุ้มครองรักษาประเทศไทยหรือแผ่นดินสยาม นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า
ขอบารมีทุกพระองค์จงเข้มแข็ง ปกบ้าน คุ้มเมืองให้พ้นอันตรายทุกรูปแบบ และโปรดนำพาคนดีขึ้นเป็นใหญ่ นำกระแสแห่งสามัคคีธรรม
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ให้ จิตวิญญาณนักรบ ทหารหาญทั้งหลาย ผู้กล้าผู้เสียสละทั้งหลาย ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งใหญ่และเล็ก ได้แก่ นักรบ นักสู้ และชาวบ้านที่สละชีพเพื่อรักษาแผ่นดิน ทหาร ตำรวจทุกกรมกอง รวมถึงช้างศึกม้าศึก ช้างเสบียงม้าเสบียง สรรพชีวิตที่ร่วมต่อสู้ในสงครามกอบกู้บ้านเมือง ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า เมื่อได้รับบุญแล้วขอจงเป็นอิสระ พ้นพันธการแห่งทุกข์ สามารถไปสู่สุคติภูมิด้วยเถิด
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ให้ บุคคลทั้งหลาย ที่ข้าพเจ้าเคยล่วงเกิน อาจจะเคยทำร้ายทำลาย ทั้งทางกาย วาจา ใจ ทั้งที่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจหรือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์(เบียดเบียนชีวิต,ลักทรัพย์,ผิดในกาม,หลอกลวง,มอมเมาผู้อื่นฯลฯ) มาบัดนี้ข้าพเจ้าได้รู้สำนึกแล้วว่ากฎแห่งกรรมมีจริงเป็นจริงส่งผลในทุกขณะ ขอท่านทั้งหลายจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า และเมื่อได้รับมหาบุญทิพย์นี้ขอได้โปรดมีจิตใจโอนอ่อน อโหสิกรรม งดเว้นโทษจากร่างกาย สังขาร วิญญาณของข้าพเจ้าและรวมถึงถอดถอนคำสาปแช่ง คำสาบานใดๆที่เป็นเหตุให้ทุกข์ในปัจจุบันด้วยเถิด
ข้าพเจ้า ... ขออโหสิ ขออโหสิ ขออโหสิ
(ตั้งใจกราบขอโทษ จากใจจริงที่สำนึกผิด)
ได้โปรดให้อโหสิ ให้อโหสิ ให้อโหสิ แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ได้แก่ กุ้ง หอย ปู ปลา ช้าง ม้า วัวควาย หมู เป็ด ไก่ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์น้ำจืดสัตว์น้ำเค็ม สัตว์ปีนป่าย สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีก สัตว์ที่เกิดจากครรภ์ สัตว์ที่เกิดจากไข่ ที่ข้าพเจ้าเคยล่วงเกิน อาจจะเคยทำร้ายทำลายกลั่นแกล้งเพื่อฆ่าเล่นหรือบริโภคซึ่งได้มาเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายของข้าพเจ้า อยู่ในเลือด อยู่ในเนื้อ อยู่ในหนัง อยู่ในกระดูก อยู่ในตับไตไส้พุง อยู่ในอวัยวะทั้ง32ส่วนของข้าพเจ้า มาบัดนี้ข้าพเจ้าได้รู้สำนึกแล้วว่ากฎแห่งกรรมมีจริงเป็นจริงและส่งผลในทุกขณะ ขอให้ท่านทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้เคยเบียดเบียน จงมีส่วนอนุโมทนาในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า และเมื่อได้รับมหาบุญทิพย์นี้ขอได้โปรดมีจิตใจโอนอ่อน อโหสิกรรม งดเว้นโทษจากร่างกาย สังขาร วิญญาณของข้าพเจ้า และรวมถึงถอดถอนคำสาปแช่ง คำสาบานใดๆที่เป็นเหตุให้ทุกข์ในปัจจุบันด้วยเถิด
ข้าพเจ้า ... ขออโหสิ ขออโหสิ ขออโหสิ
(ตั้งใจกราบขอโทษ จากใจจริงที่สำนึกผิด)
ได้โปรดให้อโหสิ ให้อโหสิ ให้อโหสิ แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ให้ สรรพวิญญาณทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์นรก สัมภเวสี ซึ่งข้าพเจ้าเคยล่วงเกิน ด้วยทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์(เบียดเบียนชีวิต,ลักทรัพย์,ผิดในกาม,หลอกลวง,มอมเมาผู้อื่นฯลฯ) มาบัดนี้ข้าพเจ้าได้รู้สำนึกแล้วว่ากฎแห่งกรรมมีจริงเป็นจริงส่งผลในทุกขณะ ขอท่านทั้งหลายจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า แม้วิญญาณใดไม่รู้ไม่เห็นเข้าไม่ถึงบุญ ก็ขอเมตตาเทวดาใกล้ชิดหรือพระมาลัยโปรดเมตตาช่วยนำส่งให้ได้รับบุญ และเมื่อได้รับมหาบุญทิพย์นี้ขอได้โปรดมีจิตใจโอนอ่อน อโหสิกรรม งดเว้นโทษจากร่างกาย สังขาร วิญญาณของข้าพเจ้า และรวมถึงถอดถอนคำสาปแช่ง คำสาบานใดๆที่เป็นเหตุให้ทุกข์ในปัจจุบันด้วยเถิด
ข้าพเจ้า ... ขออโหสิ ขออโหสิ ขออโหสิ
(ตั้งใจกราบขอโทษ จากใจจริงที่สำนึกผิด)
ได้โปรดให้อโหสิ ให้อโหสิ ให้อโหสิ แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ถวายแด่ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอานนท์ พระมหากัสสปะ พระราหุล พระองคุลีมาล พระอนุรุท พระจูฬปันถก(ผู้เป็นเลิศในมโนมยิทธิ) พระสีวลี พระกุณฑธาน(ผู้เป็นเลิศในการจับฉลากได้ที่หนึ่งเสมอ) พระอชิตะ(อนาตค คือ พระศรีอริยะเมตตรัย) พระอุปคุต พระนางปชาบดีโคตมี(ภิษุณีรูปแรก) อนาถบิณฑิกเศรษฐี(อุบาสกผู้เป็นเลิศในทาน) นางวิสาขา(อุบาสิกาผู้เป็นเลิศในทาน) และพระอริยบุคคลทุกพระองค์พร้อมทั้งบริวาร ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ถวายแด่ พระแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์ พระกษิติครรภ์มหาโพธิสัตว์ พระสังกัจจายน์ พระอรหันต์จี้กง เง๊กเซียนฮ่องเต้ ตั่วเหล่าเอี๊ย เทพกวนอู ไฉ่ซึงเอี๊ย เทพแปดเซียน ไท่เสียงเล่ากุง ฮัวท้อเซียนซือ เจ้าพ่อเห้งเจีย เจ้าพ่อเสือ เจ้าพ่อมังกร เจ้าแม่ทับทิม อากงไต่ฮงกง ปุงเถากงปุงเถาม่า แป๊ะกงแป๊ะม่า และทวยเทพทุกพระองค์พร้อมทั้งบริวาร ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ถวายแด่ พระพิฆเนศ พระแม่อุมาเทวี พระศิวะเจ้า พระตรีมูรติ พระพรหม พระแม่สุรัสวดี พระนารายณ์ พระแม่ลักษมี พระขันธุมาร พระหนุมาน พระแม่กาลี เทพทันใจ(นัตโบโบจี) เทพฤาษี พรหมฤาษีทั้งหลายและทวยเทพทุกพระองค์พร้อมทั้งบริวาร ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ถวายแด่ เสด็จปู่พระอินทร์และคู่บารมีเสด็จย่า ท้าวเวสสุวัณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์(มหาราชทั้งสี่) พญายมราช สุวาน สุวรรณ มัจจุราช ยมบาล ยมทูต เทวทูต นายนิรยบาล ผู้เป็นใหญ่ในการปกครองขุมนรกทุกขุม พร้อมทั้งบริวาร ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ถวายแด่ พญาครุฑ พญานาคราช พญาช้าง พญาเสือ พญาสิงห์ พญาม้า พญาสุนัข พญาหนู พญาไก่ พญาหมู พญาวัว พญาแพะ พญากระต่าย พญาลิง พญางู พญามังกร พญาปลา พญาเต่า พญาจระเข้ พญานก พญาปลวก พญาสัตว์ทั้งหลายซึ่งเป็นจ้าวแห่งหมู่สัตว์เหล่านั้นในธรรมชาติและบริวาร ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ถวายแด่ แม่พระธรณี แม่พระคงคา แม่พระโพสพ แม่พระเพลิง แม่พระพาย ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า ด้วยความกตัญญูรู้คุณแม่ทั้งห้าและโลกใบนี้
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ถวายแด่ เทพพระอาทิตย์ เทพพระจันทร์ เทพพระอังคาร เทพพระพุธ เทพพระพฤหัสบดี เทพพระศุกร์ เทพพระเสาร์ เทพพระราหู เทพพระเกตุ เทพพระมฤตยู ทุกท่านทุกพระองค์ที่มีผลต่อดวงชะตามวลมนุษย์ และรวมทั้งดาวฤกษ์-ดาวเคราะห์น้อยใหญ่ในอนันตจักรวาล ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า โปรดเมตตากลับดวงร้ายกลายเป็นดวงดี หรือที่ดีให้ดียิ่งๆขึ้นไปด้วยเถิด
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ให้แก่ เชื้อโรค เชื้อรา เชื้อไวรัส เชื้อมะเร็ง เชื้อปรสิต เชื้อโรคทั้งหลาย ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า และขอเชื้อโรค เชื้อร้าย อีกทั้งโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายอย่าพึงเกิดกับข้าพเจ้า กับบิดามารดาของข้าพเจ้า กับลูกหลานของข้าพเจ้า กับคนรักของข้าพเจ้า และญาติพี่น้องของข้าพเจ้า ขอจงยุติการส่งผลในทันที
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ให้ ภาษาทุกภาษา อักษรทุกตัว รหัสสื่อสารทุกชนิด ตัวเลขทุกตัว รวมถึงเลขยันต์ อักขระมนตรา ที่มีในโลกนี้ ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า เมื่อบุญบารมีเชื่อมถึงกันแล้วจงนำพาความเจริญรุ่งเรือง ราบรื่น สะดวกสบาย แม้ใช้งานก็สามารถจดจำ-ทำความเข้าใจอีกทั้งใช้สื่อสารได้ง่าย มาสู่ชีวิตข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ให้ ธนบัตร เงิน ทอง เพชร นิล จินดา อัญมณี รัตนชาติ แร่ธาตุทั้งหลาย นวโลหะ สัตตโลหะ ธาตุกายสิทธิ์ อีกทั้งสิ่งแลกเปลี่ยนของมีค่าที่เป็นทรัพย์ภายนอกทั้งหลาย ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า เมื่อบุญบารมีเชื่อมถึงกันแล้วจงนำพากันมาเป็นทรัพย์สินของข้าพเจ้าให้ได้ครอบครองได้ใช้สอยตามปรารถนา
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ให้แก่ทรัพย์สินของแผ่นดิน คนของแผ่นดิน กรรมใดที่เคยทำผิดเป็นถูกทำถูกเป็นผิด(โกงภาษี,เลี่ยงภาษี,ให้สินบน-รับสินบน,ซื้อตำแหน่ง,โกงข้อสอบฯลฯ)หรือประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินไม่ว่าทางใดทางหนึ่งทั้งที่ระลึกได้และระลึกไม่ได้ ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้าแล้วได้โปรดแปรเปลี่ยนโทษเหล่านั้นเป็นอโหสิกรรมในทันทีด้วยเถิด
ข้าพเจ้าขออุทิศมหาบุญทิพย์นี้ ให้แก่ทรัพย์สินของศาสนา คนของศาสนา ที่เคยทำผิดเป็นถูกทำถูกเป็นผิด (ทำลาย-ลักขโมยของสงฆ์,ขัดขวางคนทำดีในศาสนา,ดูหมิ่น-นินทาผู้ปฏิบัติดี,สอนผิด(มิจฉาทิฏฐิ)ฯลฯ)หรือประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินไม่ว่าทางใดทางหนึ่งทั้งที่ ระลึกได้และระลึกไม่ได้ ขอจงมีส่วนในมหาบุญทิพย์ของข้าพเจ้า แล้วได้โปรดแปรเปลี่ยนโทษเหล่านั้นเป็นอโหสิกรรมในทันทีด้วยเถิด�
ขอดวงจิตที่เกิดในชาตินี้ภพนี้ และดวงจิตทุกดวงที่ติดตามมา แม้ติดค้างอยู่ในนรกทุกๆขุม ขอจงหลุดพ้นเคราะห์กรรม วิบากกรรมชั่ว อุปกรรมที่เลวร้าย จิตอกุศลที่ข้าพเจ้า เคยคิดผิดทำผิดติดตามมา
ขอจงสลายตัว อนัตตาหายไปให้หมด
ขอจงสลายตัว อนัตตาหายไปให้หมด
ขอจงสลายตัว อนัตตาหายไปให้หมด
หลังจากนี้จงมีแต่ภาวะดวงจิตที่ ดี งดงาม ประภัสสร มีหิริ-โอตตัปปะเป็นที่ตั้ง เป็นสัมมาทิพย์
และกรรมใดที่เคยเป็นเผ่าพันธุ์หรือที่เป็นกรรมพันธ์ุ(ต้นตระกูลทำอาชีพหรือธุรกิจเกี่ยวกับอบายมุข เช่น ค้าของมึนเมา,ค้ายาเสพติด,ค้าอาวุธ,ค้ามนุษย์,ค้าชีวิต,ฉ้อโกงผู้อื่น ฯลฯ) ขอให้สิ้นสุดการส่งผล อย่ามีอย่าเกิดกับข้าพเจ้าและครอบครัวหรือลูกหลานอีกเลย ขอจงสิ้นสุดการจองเวร ณ บัดนี้�
นับจากนี้ไป ขอชีวิตของข้าพเจ้า จงมีแต่ความสุขปราศจากซึ่งความทุกข์ คิดสิ่งใดได้สมความปรารถนาทุกประการเทอญ
มหามุทิตาโมทนาสาธุทิพย์
มหามุทิตาโมทนาสาธุทิพย์
มหามุทิตาโมทนาสาธุทิพย์
คำอธิษฐานตอนที่เทน้ำ (อ่านออกเสียง)
ข้าพเจ้าขอนำฝากมหาบุญทิพย์ผ่านแม่พระธรณี
เมื่อใดที่น้ำถึงพื้น ขอให้คำอธิษฐานของข้าพเจ้าจงพลันสำเร็จ
จงพลันสำเร็จ จงพลันสำเร็จ ตั้งแต่ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ ด้วยเทอญ
จบท้าย กลั้นหายใจ รวมสมาธิแล้ว กล่าวว่า "มหามุทิตาโมทนาบุญทิพย์" จบ
ผู้เริ่มต้นปฎิบัติธรรม ควรหมั่นอธิษฐานว่า
"ขอให้ข้าพเจ้า รู้ชัดในบาปบุญ(เรื่องนรก-สวรรค์)ตามความเป็นจริงและหนักแน่นใน หิริโอตตัปปะ"

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จแล้วด้วยใจ




"ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจร้ายแล้ว จะพูดหรือจะทำ ทุกข์ย่อมติดตามผู้นั้นไปเพราะเหตุนั้น เหมือนอย่างล้อไปตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไปฉะนั้น” นี้เป็นคำแปลพระพุทธภาษิตในพระธรรมบทคาถาต้น กับอีกบทหนึ่งในลำดับต่อไปว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว จะพูดหรือทำ สุขย่อมติดตามผู้นั้นไปเพราะเหตุนั้น เหมือนอย่างเงาไม่ละตัวฉะนั้น”
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 110 มกราคม 2553

มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง


มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง ในศาสนาพุทธ หมายถึง การไม่ยึดถือสุดทางทั้ง 2 ได้แก่ อัตตกิลมถานุโยค คือ การประกอบตนเองให้ลำบากเกินไป กามสุขัลลิกานุโยค คือ การพัวพันในกามในความสบาย พระพุทธเจ้าทรงกำหนดหลักทางสายกลางนี้ไว้ชัดเจน คือ อริยมรรคมีองค์ 8 เมื่อย่นย่อแล้ว เรียก "ไตรสิกขา" ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา


มัชฌิมาปฏิปทา หมายถึงการปฏิบัติสายกลาง ซึ่งเป็นหลักจริยธรรมย่อมต้องคู่กับหลักสัจจธรรมอันเป็นสายกลางเช่นกัน โดยที่หลักสัจจธรรมอันเป็นสายกลางนี้เรียกว่ามัชเฌนธรรม หรือหลักทฤษฎีที่ว่าด้วยความสมดุล
มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง หมายถึง ทางปฏิบัติที่ไม่สุดโต่งไปในทางอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งเกินไป มุ่งเน้นใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา มักไม่ยืดถือหลักการอย่างงมงาย
มัชฌิมาปฏิปทาในทางจิตวิญญาณหมายถึงสติ สติเป็นความสมดุลทางจิตอย่างหนึ่ง คือสมดุลระหว่างศรัทธาและปัญญา สติจะอยู่ตรงกลางระหว่างอารมณ์และเหตุผล ถ้าความคิดเปรียบเป็นน้ำไหล สมาธิเปรียบเป็นน้ำนิ่ง สติจะเป็นน้ำไหลนิ่ง สติเป็นทางสายกลางทางจิตวิญญาณ
มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง หมายถึง ความสมดุล ความเหมาะสม ความเสมอ ความพอดี ซึ่งเป็นความประสานสอดคล้องกันระหว่างข้อปฏิบัติปลีกย่อยต่าง ๆ ที่มาประชุมกันร่วมกันทำงาน ข้อปฏิบัติต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาจะต้องมีสมตาคือความสมดุล ซึ่งเป็นความพอดีชนิดหนึ่ง เป็นชื่อเรียกสติอีกอย่างหนึ่ง เช่นความสมดุลระหว่างวิริยะกับสมาธิ และความพอดีระหว่างศรัทธากับปัญญา โดยมีสติเป็นเครื่องควบคุม
มัชฌิมาปฏิปทา ใช้ในความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า มัตตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณ หรือรู้จักพอดีในการปฏิบัติต่าง ๆ โดยทั่วไป หรือรู้จักพอดีที่เป็นหลักกลาง ๆ เช่น จะรับประทานอาหารก็ต้องมีความรู้จักประมาณ รู้จักพอดีในอาหาร ถ้ารับประทานอาหารไม่พอดีก็เกิดโทษแก่ร่างกาย แทนที่จะได้สุขภาพ แทนที่จะได้กำลัง ก็อาจจะเสียสุขภาพ และอาจจะทอนกำลังทำให้อ่อนแอลงไป หรือเกิดโรค เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้มีความรู้จักประมาณในการบริโภค เรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา
จะเห็นว่าหลักพระพุทธศาสนาในทุกระดับมีเรื่องของความพอดี หรือความเป็นสายกลางนี้ ฉะนั้นความเป็นสายกลาง คือ ความพอดีที่จะให้ถึงจุดหมาย และที่จะให้ตรงกับความจริง ไม่ให้ไปสุดโต่ง เอียงสุด ซึ่งจะพลาดจากตัวความจริงไปนั้น จึงเป็นลักษณะทั่วไปอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสายกลางทั้งหลักทฤษฎี (มัชเฌนธรรม) และหลักการปฏิบัติ (มัชฌิมาปฏิปทา)

ที่มา : wikipedia.org

ทิศทั้ง 6 ตามหลักพระพุทธศาสนา

ทิศหก บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ดุจทิศที่อยู่รอบตัวจัดเป็น ๖ ทิศ ดังนี้

๑. ปุรัตถิมทิส ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดา มารดา
๒. ทักขิณทิสทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์
๓. ปัจฉิมทิส ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ สามีภรรยา
๔. อุตตรทิส ทิศเบื้องซ้ายได้แก่ มิตรสหาย
๕. อุปริมทิส ทิศเบื้องบนได้แก่ พระสงฆ์ สมณพราหมณ์
๖. เหฏฐิมทิส ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ลูกจ้างกับนายจ้าง



๑. ปุรัตถิมทิส ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดา มารดา

มารดาบิดาอนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้

๑. ห้ามปรามจากความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความด
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. หาคู่ครองที่สมควรให้
๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร

บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดา ดังนี้

๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้วเลี้ยงท่านตอบ
๒. ช่วยทำกิจของท่าน
๓. ดำรงวงศ์สกุล
๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน

๒. ทักขิณทิสทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์ 

ครูอาจารย์อนุเคราะห์ศิษย์ ดังนี้

๑. ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี
๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๔. ยกย่องให้ปรากฏในหมู่เพื่อน
๕. สร้างเครื่องคุ้มกันภัยในสารทิศคือ สอนให้ศิษย์ปฏิบัติได้จริง นำวิชาไปเลี้ยงชีพทำการงานได้

ศิษย์พึงบำรุงครูอาจารย์ ดังนี้

๑. ลุกต้อนรับแสดงความเคารพ
๒. เข้าไปหา
๓. ใฝ่ใจเรียน
๔. ปรนนิบัติ
๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

๓. ปัจฉิมทิส ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ สามีภรรยา

สามีพึงบำรุงภรรยา ดังนี้

๑. ยกย่องสมฐานะภรรยา
๒. ไม่ดูหมิ่น
๓. ไม่นอกใจ
๔. มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้
๕. หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญ ตามโอกาส

ภรรยาอนุเคราะห์สามี ดังนี้

๑. จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
๒.สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
๓. ไม่นอกใจ
๔. รักษาสมบัติที่หามาได้
๕. ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง

 ๔. อุตตรทิส ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหาย

พึงบำรุงมิตรสหาย ดังนี้

๑. เผื่อแผ่แบ่งปัน
๒. พูดจามีน้ำใจ
๓. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
๔. มีตนเสมอร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย
๕. ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน

มิตรสหายอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้

๑. เมื่อเพื่อนประมาทช่วยรักษาป้องกัน
๒. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
๓. ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้
๔. ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร

๕. อุปริมทิส ทิศเบื้องบน ได้แก่ พระสงฆ์ สมณพราหมณ์

คฤหัสถ์พึงบำรุงพระสงฆ์ ดังนี้

๑. จะทำสิ่งใดก็ทำด้วยเมตตา
๒. จะพูดสิ่งใดก็พูดด้วยเมตตา
๓. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
๔. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
๕. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔

พระสงฆ์อนุเคราะห์คฤหัสถ์ ดังนี้

๑. ห้ามปรามจากความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี
๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๕. ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
๖. บอกทางสวรรค์ สอนวิธีดำเนินชีวิตให้ประสบความสุขความเจริญ

๖. เหฏฐิมทิส ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ลูกจ้างกับนายจ้าง

นายจ้างพึงบำรุงลูกจ้าง ดังนี้

๑. จัดการงานให้ทำตามกำลังความสามารถ
๒. ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและ ความเป็นอยู่
๓. จัดสวัสดิการดีมีช่วยรักษาพยาบาลในยาม
เจ็บไข้ เป็นต้น
๔. ได้ของแปลกๆ พิเศษมา ก็แบ่งปันให้
๕. ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาส อันควร

ลูกจ้างอนุเคราะห์นายจ้าง ดังนี้

๑. เริ่มทำงานก่อน
๒. เลิกงานทีหลัง
๓.เอาแต่ของที่นายให้
๔. ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
๕. นำความดีของนายไปเผยแพร่

มรรค 8 หลักพื้นฐานที่จะทำให้คนเราพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง


มรรค 8 คือหนทางแห่งการดับทุกข์ เป็นหลักธรรมข้อสุดท้ายของอริยสัจ 4 มรรคนั้นมีอยู่ 8 ประการด้วยกัน

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสถึงอริยสัจ 4 อันประกอบไปด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ซึ่งนี้คือหนทางแห่งการดับทุกข์นั่นเอง เป็นหนทางหรือหลักพื้นฐานที่จะทำให้คนเราพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้


มรรค 8 ประกอบไปด้วย

1. สัมมาทิฏฐิ – มีปัญญาเห็นชอบ หมายถึง ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมตามความเป็นจริงด้วยสติและปัญญา
2. สัมมาสังกัปปะ – ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม ไม่หลุมหลงมัวเมาในสิ่งไม่ดี
3. สัมมาวาจา – เจรจาชอบ หมายถึง การพูดต้องสุภาพ แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
4. สัมมากัมมันตะ – ความประพฤติชอบ หมายถึง การประพฤติดีงาม อยู่ในทำนองคลองธรรม
5. สัมมาอาชีวะ – การมีอาชีพชอบ หมายถึง การทำมาหากินอย่างสุจริตชน ไม่คดโกง ไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนผู้อื่น
6. สัมมาวายามะ – การมีความมานะชอบ หมายถึง ความอุตสาหะพยายาม มีความอดทนต่อการปฏิบัติงานใดๆ
7. สัมมาสติ – การมีสติชอบ หมายถึง การมีสติ ใช้สติอยู่ตลอดเวลา ไม่ทำจิตให้เลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
8. สัมมาสมาธิ – การมีสมาธิชอบ หมายถึง การฝึกจิตให้สงบและตั้งมั่น เพื่อให้ปราศจากกิเลสและนิวรณ์อยู่เสมอ
ดังนั้นคนเราควรศึกษาเรื่องมรรค 8 นี้ให้ถี่ถ้วนและนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์และความสุขของเราเอง

อย่าเชื่อ 10 ประการ (กาลามสูตร)

กาลามสูตร

กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 หมายถึง วิธีปฎิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักความเชื่อ ที่ตรัสไว้ในกาลามสูตร



1.อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา (มา อนุสฺสเวน)
2.อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสีบๆกันมา (มา ปรมฺปราย)
3.อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ (มา อิติกิราย)
4.อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์ (มา ปิฏกสมฺปทาเนน)
5.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก (มา ตกฺกเหตุ)
6.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน (มา นยเหตุ)
7.อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (มา อาการปริวิตกฺเกน)
8.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว (มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา)
9.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ (มา ภพฺพรูปตาย)
10.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)

ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น

สูตรนี้ในบาลีเรียกว่า เกสปุตติสูตร ที่ชื่อกาลามสูตร เพราะทรงแสดงแก่ชนเผ่ากาละมะ แห่งวรรณะกษัตริย์ ที่ชื่อเกสปุตติยสูตร เพราะพวกกาละมะนั้นเป็นชาวเกสปุตตะนิคม ในแคว้นโกศล ไม่ให้เชื่องมงายไร้เหตุผลตามหลัก 10 ข้อ

ตัวอย่าง

1.อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา ประเภท "เขาว่า" "ได้ยินมาว่า" ทั้งหลาย
2.อย่าได้ยึดถือถ้อยคำสืบๆกันมา ประเภท "ใครๆว่า" "โบราณว่า" ตามกระแส
3.อย่าได้ยึดถือโดยความตื่นข่าวว่า เข่าว่าอย่างนี้ ประเภทข่าวลือ ข่าวโคมลอย ทั้งหลาย
4.อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าไปตามตำรามากนัก ตำราว่าอย่างนั้น ต้องออกมาเป็น
อย่างนั้น เท่านั้น เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะอย่าลืมว่า ตำราบางเล่ม คนแต่งก็มั่วมาบ้าง เขียนไม่ครบบ้าง ใส่ไข่เอาเองบ้าง คนมีกิเลสไปแก้ไขตำรา คนมีผลประโยขน์ ไม่แก้ไขตำราเท่ากับเราโดนหลอก
5.อย่าได้ยึดถือโดยนึกเดาเอาเอง เช่น เข้าใจเอาเอง หรือข้อมูลไม่พอ ใจร้อนเดาสุ่มเอา มั่วๆ เอา
6.อย่าได้ยึดถือโดยการคาดคะเน การคาดการณ์ตามประวัติศาสตร์ ตามสถิติ ความน่าจะเป็น ซึ่งอาจจะผิดก็ได้ เพราะเห็นแค่ร้อย อย่าเหมาว่าที่ร้อยเอ็ดจะเป็นไปด้วย
7.อย่าได้ยึดถือตรึงตามอาการ อย่าเห็นว่าอาการแบบนี้ น่าจะเป็นแบบนี้ ให้คิดเผื่อๆไว้ด้วย เช่น เห็นคนไข้เป็นแบบที่เคยรักษาคนอื่นๆมาก่อน อย่าไปตรึกเอาเองว่าเป็นแบบนั้น เห็นเงาก็จ่ายยาได้ เพราะเหนือฟ้ายังมีฟ้า อย่าเข้าข้างตนเอง นั่งสมาธิเห็นโน่น เห็นนี้ อย่านึกว่าเป็นจริง เพราะอาจจะเป็นจิตหลอกจิต
8.อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าเอาความเห็นของตนเป็นใหญ่ อะไรที่ตรงกับที่ตนคิดไว้เท่านั้นที่เชื่อได้ คนคิดแบบนี้ ดื้อตายชัก
9.อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ ระวังจะโดนหลอก อย่าลืมว่า สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
10.อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา การยึดอาจารย์ของตนเองมากไป ก็ไม่ดี ควรทำตาม ทดสอบดู ถ้าผิดพลาดก็ไม่ต้องเชื่อ ถ้าทำแล้วดีขึ้นก็แสดงว่าเชื่อได้

ที่มา : buddha4u

บารมี 10 ทัศ

บารมี แปลว่า กำลังใจเต็ม บารมี 10 ทัศ มีดังนี้



1.ทานบารมี จิตของเราพร้อมที่จะให้ทานเป็นปกติ
2.ศีลบารมี จิตของเราพร้อมในการทรงศีล
3.เนกขัมมบารมี จิตพร้อมในการทรงเนกขัมมะเป็นปกติ เนกขัมมะ แปลว่า การถือบวช แต่ไม่ใช่ว่าต้องโกนหัวไม่จำเป็น
4.ปัญญาบารมี จิตพร้อมที่จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องประหัตประหารให้พินาศไป
5.วิริยบารมี วิิริยะ มีความเพียรทุกขณะ ควบคุมใจไว้เสมอ
6.ขันติบารมี ขันติ มีทั้งอดทน อดกลั้นต่อสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์
7.สัจจะบารมี สัจจะ ทรงตัวไว้ตลอดเวลา ว่าเราจะจริงทุกอย่าง ในด้านของการทำความดี
8.อธิษฐานบารมี ตั้งใจไว้ให้ตรงโดยเฉพาะ
9.เมตตาบารมี สร้างอารมณ์ความดี ไม่เป็นศัตรูกับใคร มีความรักตนเสมอด้วยบุคคลอื่น
10.อุเบกขาบารมี วางเฉยเข้าไว้ เมื่อร่างกายมันไม่ทรงตัว ใช้คำว่า "ช่างมัน" ไว้ในใจ
     
บารมี ที่องค์สมเด็จทรงให้เราสร้างให้เต็ม ก็คือ สร้างกำลังใจปลูกฝังกำลังใจให้มันเต็มครบถ้วนบริบูรณ์สมบูรณ์
      บารมีในขั้นต้นกระทำด้วยจิตอย่างอ่อนเป็นขั้นพระบารมี เมื่อจิตดำรงบารมีขั้นกลางได้ เรียกว่า พระอุปบารมี และเมื่อจิตดำรงบารมีขึ้นไปถึงที่สุดเลย เรียกว่า พระปรมัตถบารมี หรือบารมี 30 ทัศ หรือมีศัพท์เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระสมติงสบารมี หมายถึง พระบารมีสามสิบถ้วน ซึ่งเป็นธรรมพิเศษหมวดหนึ่ง มีชื่อว่า พุทธกรณธรรม เป็นธรรมพิเศษที่กระทำให้ได้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้่า พระโพธิสัตว์ที่ต้องการจะเป็นพระพุทธเจ้า ต้องบำเพ็ญธรรมหมวดนี้ หรือมีชื่อหนึ่งเรียกว่า โพธิปริปาจนธรรม คือธรรมสำหรับพระพุทธภูมิ หรือชาวพุทธเราทั่วไปเรียกว่า พระบารมี หมายถึง ธรรมที่นำไปให้ถึงฝั่งโน้น คือ พระนิพพาน

ทาน การให้ เป็นการตัดความโลภ
ศีล เรามีก็ตัดความโกรธ
เนกขัมมะ เป็นการตัดอารมณ์ของกามคุณ
ปัญญา ตัดความโง่
วิริยะ ตัดความขี้เกียจ
ขันติ ตัดความไม่รู้จักอดทน
สัจจะ ตัดความไม่จริงใจ มีอารมณ์ใจกลับกลอก
อธิษฐาน ทรงกำลังไว้ให้สมบูรณ์
เมตตา สร้างความเยือกเย็นของใจ
อุเบกขา วางเฉยเข้าไว้ในเรื่องของกายเรา

บารมีจัดเป็น 3 ชั้น คือ
1.บารมีต้น
2.อุปบารมี
3.ปรมัตถบารมี

1.บารมีต้นในขั้นเต็ม ท่านผู้นี้จะเก่งเฉพาะทาน กับ ศีล แต่การรักษาศีลของบารมีขั้นต้นจะไม่ถึงศีล 8 และจะยังไม่พร้อมในการเจริญพระกรรมฐาน กำลังใจไม่พอ อาจจะไม่ว่างพอหรือเวลาไม่มี
2.อุปบารมี เป็นบารมีขั้นกลาง พร้อมที่ทรงฌานโลกีย์ ท่านพวกนี้จะพอใจการเจริญพระกรรมฐาน และทรงฌาน แต่ยังไม่ถึงขั้นวิปัสสนา ยังไม่พร้อมที่จะไปและไม่พร้อมที่จะยินดีเรื่องพระนิพพาน พร้อมอยู่แค่ฌานสมาบัติ
3.ปรมัตถบารมี ในอันดับแรกอาจจะยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนิพพาน พอสัมผัสวิปัสสนาญาณขั้นเล็กน้อย อาศัยบารมีเก่า ก็มีความต้องการพระนิพพาน จะไปได้หรือไม่ได้ในชาตินี้นั้นไม่สำคัญ เพราะการหวังนิพพานจริง ๆ ต้องหวังกันหลายชาติจนกว่าบารมีที่เป็นปรมัตถบารมีจะสมบูรณ์แบบ

ที่มา : larnbuddhism.com

หิริโอตตัปปะ

หิริโอตตัปปะ คือ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป



คำว่าหิริโอตัปปะ เกิดจากการรวมกันของคำสองคำคือ
หิริ หมายถึง ความละอายต่อการทำบาป ละอายต่อการทำชั่วทำเลวของตนเอง
โอตัปปะ หมายถึง ความเกรงกลัวต่อบาป ความเกรงกลัวผลของการกระทำบาป การกระทำชั่วของตนเอง
หลักธรรมะหิริโอตัปปะนี้ พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสไว้ เพื่อเป็นการเตือนสติคนให้มีสติยั้งคิด ให้ไตร่ตรองก่อนการกระทำใดๆ ให้วิเคราะห์ว่าสิ่งที่ตนกำลังกระทำนั้นเป็นสิ่งดีงามหรือสิ่งชั่วช้า ถ้าเป็นสิ่งชั่วช้าก็ให้นึกละอายที่จะกระทำเช่นนั้น และให้นึกเกรงกลัวผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตน

มงคลชีวิต 38 ประการ


มงคลชีวิต 38 ประการ



ข้อที่ 1: ไม่คบคนพาล
บาลี: อเสวนา จ พาลานํ (อะเสวะนา จะ พาลานัง)
พาล แปลว่า โง่เขลา อับปัญญา รู้เท่าไม่ถึงการณ์ คนพาลคือคนโง่เขลา คนเกเรแม้คนมีปริญญาสูง ๆ แต่ประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ เรียกว่า คนพาล การไม่คบคนพาลจึงเป็นมงคล เพราะการคบคนพาลพาไปหาผิดและพาเราไปทำสิ่งไม่ดีไม่ร้ายกับตัวเรา การไม่คบคนพาลจึงทำให้พ้นจากโอกาสที่จะหลงเข้าสู่ความผิด นำมาซึ่งความสรรเสริญของคนทั่วไป และประสบความสุขความก้าวหน้าในชีวิต เป็นการตัดกำลังไม่ให้เชื้อคนพาลระบาดไป เพราะขาดคนสนับสนุน

ข้อที่ 2: คบบัณฑิต
บาลี: ปณฑิตานญฺจ เสวนา (ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา)
บัณฑิต แปลว่า ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ หมายถึง ผู้รู้ทัน และมีเหตุผล ในการกระทำ ในคำที่พูด และเรื่องที่คิด คบบัณฑิตเป็นมงคล เพราะได้ความรู้ ความปลอดภัย ความสรรเสริญ ความสุข เกียรติยศ ชื่อเสียง และชื่อว่าได้ทำความดีด้วย ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ง่าย ได้ชื่อว่ามี "กัลยาณมิตร"

ข้อที่ 3: บูชาบุคคลที่ควรบูชา
บาลี: ปูชา จ ปูชนียานํ (ปูชา จะ ปูชะนียานัง)
บูชา คือ สักการะ เคารพ นับถือ ยำเกรง กราบไหว้ ทำด้วยความเอื้อเฟื้อ การบูชาเป็นมงคล เพราะทำให้เราลดทิฏฐิมานะลงได้ ป้องกันความเห็นผิด และทำให้เราได้แบบอย่างที่ดีจากคนที่เราเคารพ เป็นการขจัดคนพาลให้พินาศไปโดยทางอ้อมและเป็นการเชิดชูบัณฑิตให้สูงเด่นยิ่งขึ้น และได้ชื่อว่าเป็นผู้มี "กตัญญูกตเวที" อีกด้วย


ข้อที่ 4: อยู่ในถิ่นอันสมควร
บาลี: ปฏิรูปเทสวาโส จ (ปะฏิรูปะเทสะวาโส จะ)
ปฏิรูป แปลว่า เหมาะสมหรือสมควร เทสะ แปลว่าสถานที่หรือท้องถิ่น ปฏิรูปเทสวาสะ คือการอยู่ในท้องถิ่นอันสมควร คืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีมีความพร้อม การอยู่ในประเทศอันสมควรเป็นมงคล เพราะการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมทำให้เป็นคนดี คนมีความรู้ถ้าอยู่ในถิ่นที่ไม่ต้องใช้วิชาความรู้ ความรู้นั้นก็หมดค่าไป และทำให้คนเรากล้าต่อการเผชิญกับปัญหา เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ ได้รับความสุขกาย สุขใจ มีความเจริญก้าวหน้า ทั้งทางโลกและทางธรรม


ข้อที่ 5: ทำบุญมาไว้ก่อน
บาลี: ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา (ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา)
บุญ แปลว่า ความดี ความสุข สิ่งที่ชำระจิตใจ สิ่งที่ฟอกจิต การทำบุญไว้ก่อนเป็นมงคล เพราะการทำบุญเป็นการสร้างความดี ซึ่งมีระยะเวลายาวนานต้องอดทน เหมือนปลูกต้นไม้ยืนต้นจะต้องคอยผลไม้นั้นเป็นปี ๆ การทำบุญในอดีตส่งผลในปัจจุบัน การทำบุญในปัจจุบันส่งผลในปัจจุบันและอนาคต ผู้ทำความดีจึงต้องคิดว่าเป็นการสร้างฐานแห่งอนาคตไว้ฉะนั้น


ข้อที่ 6: ตั้งตนชอบ
บาลี: อตฺตสมฺมาปณิธิ จ (อัตตะสัมมาปะณิธิ จะ)
อัตตะ หรือ ตน หมายถึงกายกับใจ การตั้งตนไว้ชอบคือการวางตัวในการดำรงชีพ หรือในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องและมั่นคง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนมีคุณภาพชีวิต การตั้งตนไว้ชอบเป็นมงคล เพราะเป็นการสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยแก่ตนเอง เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนอื่น มีความก้าวหน้า เป็นผู้ป้องกันภัยในอบายภูมิ และได้รับสมบัติ 3 ประการคือ มนุษยสมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ


ข้อที่ 7: เป็นพหูสูต
บาลี: พาหุสจฺจญฺจ (พาหุสัจจัญจะ)
พหู แปลว่ามาก สูต แปลว่าความเป็นผู้ได้สดับตรับฟัง ดังนั้นพหูสูต จึงหมายถึงความเป็นผู้รู้ ได้สดับตรับฟังมาก หรือความเป็นผู้คงแก่เรียน พหูสูตเป็นมงคล เพราะการฟังมาก (ในที่นี้รวมถึงผู้ที่รู้จากการอ่านด้วย) ย่อมเพิ่มวุฒิปัญญา เชาวน์ และไหวพริบ นำความรู้ที่ได้ยินได้ฟัง ได้อ่าน ไปปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือตนเองหรือคนอื่นได้มาก และเป็นช่องทางนำความเจริญด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ความเจริญก้าวหน้ามาสู่ตน ไม่มีใครแย่งชิงได้ เป็นสหชาติปัญญา


ข้อที่ 8: รอบรู้ในศิลปะ
บาลี: สิปฺปญฺจ (สิปปัญจะ)
สิปปะ หรือ ศิลปะ หมายถึง วิชาชีพหรือความฉลาดในการใช้มือ ความมีศิลปะเป็นมงคล เพราะคนมีศิลปะจะช่วยตัวเองได้ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานะใด คนมีศิลปะย่อมเจริญก้าวหน้า ได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และทำให้โลกเจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจ ดังพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ที่ว่า "ศิลปกรรมนำใจให้สร่างโศก ช่วยบรรเทาทุกข์ในโลกให้เหือดหาย"


ข้อที่ 9: มีวินัยที่ดี
บาลี: วินโย จ สุสิกฺขิโต (วินะโย จะ สุสิกขิโต)
วินัย แปลว่า ข้อแนะนำ บทฝึกหัด ได้แก่ กฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ใช้ในสังคมนั้น ๆ มีวินัยเป็นมงคล เพราะวินัยเป็นตัวกำหนดให้เกิดความสามัคคี ความมีระเบียบสร้างความเข้มแข็งในกิจการงานต่าง ๆ ทำให้สังคมที่ดีดำรงอยู่


ข้อที่ 10: มีวาจาอันเป็นสุภาษิต
บาลี: สุภาสิตา จ ยา วาจา (สุภาสิตา จะ ยา วาจา)
วาจา คือ คำพูด สุภาษิต คือพูดดี คำว่า วาจาสุภาษิตจึงหมายถึงพูดดี วาจาสุภาษิตเป็นมงคล เพราะคนที่พูดวาจาสุภาษิต จะบันดาลให้การงานทั้งปวงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม ได้รับความสำเร็จในเรื่องที่เจรจา


ข้อที่ 11: ดูแลบำรุงบิดามารดา
บาลี: มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ (มาตาปิตุอุปัฏฐานัง)
มารดา แปลว่า ผู้รักษาบุตร ผู้เลี้ยงดูบุตร บิดา แปลว่า ผู้รักใคร่บุตร ผู้ให้สัตว์โลกยินดี การเลี้ยงดูมารดาเป็นมงคล เพราะเป็นการสืบต่อสังคมโดยอัตโนมัติ การบำรุงเลี้ยงดูมารดาบิดา ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ มีความเจริญก้าวหน้า เป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง


ข้อที่ 12: ดูแลสงเคราะห์บุตร
บาลี: ปุตฺตสงฺคโห (ปุตตะสังคะโห) แยกมาจาก ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห (ปุตตะทารัสสะ สังคะโห)
บุตร แบ่งตามคุณธรรม มี 3 ประเภท คือ 1. อภิชาตบุตร บุตรที่ยิ่งใหญ่กว่ามารดาบิดา 2. อนุชาตบุตร บุตรเสมอมารดาบิดา 3. อวชาตบุตร บุตรที่เลวกว่ามารดาบิดา บุตรทั้ง 3 ประเภทนี้มีอยู่ในทุกสังคม ตระกูลจะมั่นคงได้ บุตรจะต้องเป็นอภิชาตบุตร หรืออนุชาตบุตร ส่วนอวชาตบุตร เกิดมาเพื่อทำลายวงศ์ตระกูลโดยเฉพาะ การเลี้ยงดูบุตรเป็นมงคล เพราะบุตรเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของประเทศชาติ ถ้าเลี้ยงดูบุตรให้ดีได้รับการศึกษา ก็เท่ากับสร้างครอบครัวให้ดี ประเทศชาติจะเจริญมั่นคง การไม่ดูแลบุตรปล่อยให้เป็นจิ้งจอกสังคม มารสังคม เป็นนักเลง เป็นโจร เป็นคนไม่มีวินัย เป็นนักเลงหญิง นักเลงการพนัน เท่ากับว่าทำลายสังคมและประเทศชาติด้วย


ข้อที่ 13: ดูแลสงเคราะห์ภรรยา (สามี)
บาลี: ทารสงฺคโห (ทาระสังคะโห) แยกมาจาก ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห (ปุตตะทารัสสะ สังคะโห)
ทาระ แปลว่า เมีย ภรรยา แปลว่า ผู้ที่สามีต้องเลี้ยงดู คือเมีย พระพุทธศาสนา ได้กำหนดหลักการเลี้ยงดู หรือสงเคราะห์ภรรยาไว้ห้าประการ ได้แก่ การยกย่อง ไม่ดูหมิ่น ไม่นอกใจ มอบความเป็นใหญ่ให้ มอบเครื่องแต่งตัวตลอดถึงพาออกงานด้วย การเลี้ยงดูภรรยาเป็นมงคล เพราะทำให้ชีวิตครอบครัวมั่นคงยั่งยืนเป็นการร่วมกันสร้างฐานะให้มั่นคง การสงเคราะห์ภรรยาเป็นการสร้างความมั่นคงและมั่นใจให้แก่ภรรยา ครอบครัวมีความสงบสุข ได้รับการยกย่องสรรเสริญ และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง


ข้อที่ 14: ทำการงานไม่ให้คั่งค้าง
บาลี: อนากุลา จ กมฺมนฺตา (อะนากุลา จะ กัมมันตา)
กรรม หรือการงาน แบ่งออกเป็นสองอย่าง คือ งานทางโลกและงานทางธรรมงานทางโลก ได้แก่ ทำนา ทำสวน ทำไร่ ค้าขาย บริการ รับราชการ เป็นต้น ส่วนงานทางธรรม ได้แก่ งานสร้างสันติสุขให้แก่โลก ลดละกิเลส ความเห็นแก่ตัว ความริษยา เป็นต้น ให้น้อยลง งานไม่คั่งค้างเป็นมงคล เพราะถ้าหากงานคั่งค้างแล้วย่อมไม่มีประโยชน์ไม่เห็นผล งานไม่คั่งค้างจะทำให้ฐานะของตน ครอบครัว และประเทศชาติเจริญขึ้นเพราะฉะนั้นงานที่ทำเสร็จเห็นผลงานจึงเป็นมงคล


ข้อที่ 15: ให้ทาน
บาลี: ทานญฺจ (ทานัญจะ)
ทาน แปลว่า ให้ และเป็นการให้ด้วยเจตนาอยากให้ ทานมี 2 อย่างคือ อามิสทาน ให้วัตถุสิ่งของ เช่น ปัจจัย 4 ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น และธรรมทาน ให้สิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ เช่น ให้คำแนะนำสั่งสอน ให้อภัย เป็นต้น การให้ทานเป็นมงคล เพราะเป็นการฝึกใจให้เป็นนักเสียสละ เป็นการลดความเห็นแก่ตัว ถ้าต่างคนต่างมุ่งหวังให้ทาน ความเห็นแก่ตัวจะลดลง การทุจริตจะลดลง ทำให้มีชื่อเสียงในสังคม แม้ตายแล้วย่อมไปเกิดในสวรรค์


ข้อที่ 16: ปฏิบัติธรรม
บาลี: ธมฺมจริยา จ (ธัมมะจะริยา จะ)
ธรรม คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าและสาวก จริยา แปลว่าประพฤติ ธรรมจริยา จึงหมายถึง การประพ

ข้อที่ 17: ช่วยเหลือสงเคราะห์ญาติ/พี่น้อง
บาลี: ญาตกานญฺจ สงฺคโห (ญาตะกา นัญจะ สังคะโห) การสงเคราะห์ญาติคือ เมื่อยามญาติ อัตคัด เกินขัดข้องควรหาช่อง สงเคราะห์ ไม่เลาะหนี เขาซาบซึ้ง ถึงคุณ อบอุ่นดี หากถึงที เราจน ญาติสนใจ

ข้อที่ 18: ทำงานที่ไม่มีโทษ
บาลี: อนวชฺชานิ กมฺมานิ (อะนะวัชชานิ กัมมานิ) ทำงานที่ไม่มีโทษ คือ งานรับจ้าง ล้างชาม ก็ตามเถิดหากไม่เกิด โทษทัณฑ์ นั่นสดใสเมื่อได้ช่อง ต้องจำ กระทำไปได้กำไร ทุกทาง ไม่ว่างงาน งานที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้

ไม่ผิดกฎหมาย คือทำให้ถูกต้องตามกฎหมายของบ้านเมือง
ไม่ผิดประเพณี คือแบบแผนที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิม ควรดำเนินตาม
ไม่ผิดศีล คือข้อห้ามที่บัญญัติไว้ในศีล 5
ไม่ผิดธรรม คือหลักธรรมทั้งหลายอาทิเช่น การพนัน การหลอกลวง

ข้อที่ 19: ละเว้นการทำบาป
บาลี: อารตี วิรตี ปาปา (อาระตี วิระตี ปาปา) บาปคือสิ่งที่ไม่ดี เสีย ความชั่วที่ติดตัว ซึ่งไม่ควรทำ ท่านว่าสิ่งที่ทำแล้วถือว่าเป็นบาปได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 คือ

1.ฆ่าสัตว์
2.ลักทรัพย์
3.ประพฤติผิดในกาม
4.พูดเท็จ
5.พูดส่อเสียด
6.พูดคำหยาบ
7.พูดเพ้อเจ้อ
8.โลภอยากได้ของเขา
9.คิดพยาบาทปองร้ายคนอื่น
10.เห็นผิดเป็นชอบ

ข้อที่ 20: สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
บาลี: มชฺชปานา จ สญฺญโม (มัชชะปานา จะ สัญญะโม) ว่าด้วยเรื่องของน้ำเมานั้น อาจทำมาจากแป้ง ข้าวสุก การปรุงโดยผสมเชื้อ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ดื่มแล้วทำให้มึนเมา เช่นเบียร์ ไวน์ ไม่ใช่แค่เหล้าเท่านั้น ล้วนมีโทษอันได้แก่

ทำให้เสียทรัพย์ เพราะต้องนำเงินไปซื้อหา ทั้ง ๆ ที่เงินจำนวนเดียวกันนี้ สามารถนำเอาไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้มากกว่า
ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวาย เจ็บตัว หรือถึงแก่ชีวิต และคดีความ เพราะน้ำเมาทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ
ทำให้เกิดโรค โรคที่เกิดเนื่องมาจากการดื่มสุราล้วนแล้วแต่บั่นทอนสุขภาพกายจนถึงตายได้เช่น โรคตับแข็ง โรคหัวใจ โรคความดัน
ทำให้เสียชื่อเสียง เมื่อคนเมาไปทำเรื่องไม่ดีเข้าเช่นไปลวนลามสตรี ปล่อยตัวปล่อยใจ ก็ทำให้วงศ์ตระกูล และหน้าที่การงานเสี่อมเสีย


ข้อที่ 21: ไม่ดำรงตนอยู่ในความประมาท
บาลี: อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ (อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ) ไม่ประมาท คือมี สติพร้อม คอยหน่วงน้อม ธรรมคุณ ไม่ผลุนผลัน ธรรมอันใด ไม่ดี หลีกหนีพลัน ธรรมดีนั้น ยึดแน่น ไม่แคลนคลอน ธรรมในที่นี้ก็คือ หลักปฏิบัติที่ทำแล้วมีผลในทางดี และเป็นจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงโปรดแนะทางไว้ คนที่ประมาทในธรรมนั้นมีลักษณะที่สรุปได้ดังนี้คือ

1.ไม่ทำเหตุดี แต่จะเอาผลดี
2.ทำตัวเลว แต่จะเอาผลดี
3.ทำย่อหย่อน แต่จะเอาผลมาก


ข้อที่ 22: มีความเคารพในบุคคลที่ควรเคารพ
บาลี: คารโว จ (คาระโว จะ) ความเคารพ นับถือ คือเสน่ห์ ไม่โลเล เหมือนลิง วิ่งหลอกหลอน ทั้งต่อหน้า ลับหลัง พึงสังวร ย่อมงามงอน สวยสง่า ราคาแพง ท่านได้กล่าวว่าสิ่งที่ควรเคารพมีอยู่ดังนี้

1.พระพุทธเจ้า
2.พระธรรม
3.พระสงฆ์
4.การศึกษา
5.ความไม่ประมาท คือการดำเนินตามหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ด้วยความเคารพ
6.การสนทนาปราศรัย คือการต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนด้วยความเคารพ


ข้อที่ 23: มีความถ่อมตน
บาลี: นิวาโต จ (นิวาโต จะ) ไม่พองลม ก้มหัว เจียมตัวด้วย มรรยาทสวย นิ่มนวล สิ้นส่วแข็ง เหมือนงูพิษ ถอดเขี้ยว หมดเรี่ยวแรง ยามแถลง นอบน้อม พร้อมใจกาย ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ การไม่แสดงออกถึงความสามารถที่ตัวเองมีอยู่ให้ผู้อื่นทราบเพื่อข่มผู้อื่น หรือเพื่อโอ้อวด การไม่อวดดี เย่อหยิ่งจองหอง แต่แสดงตนอย่างสงบเสงี่ยม ท่านว่าไว้ว่าโทษของการอวดดีนั้นมีอยู่ดังนี้คือ

1.ทำให้เสียคน คือไม่สามารถกลับมาอยู่ในร่องในรอยได้เหมือนเดิม เสียอนาคต
2.ทำให้เสียมิตร คือไม่มีใครคบหาเป็นเพื่อนด้วย ถึงจะมีก็ไม่ใช่เพื่อนแท้


ข้อที่ 24: มีความสันโดษ
บาลี: สนฺตุฏฺฐี จ (สันตุฏฺะฐี จะ) ความสันโดษ พอใจ ในสิ่งของ เช่นเงินทอง ของตน แม้ล้นหลาย เมื่อมีน้อย จ่ายน้อย ค่อยสบาย ความจนหาย เลยลับ กลับมั่งมี คำว่าสันโดษไม่ได้หมายถึงการอยู่ลำพังคนเดียวอย่างเดียวก็หาไม่ แต่หมายถึงการพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ในของของตัว ซึ่งท่านได้ให้นิยามที่เป็นลักษณะของความสันโดษเป็นดังนี้ คือ

1.ยถาลาภสันโดษ หมายถึงความยินดีตามมีตามเกิด คือมีแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น เป็นอยู่อย่างไรก็ควรจะพอใจ ไม่คิดน้อยเนื้อต่ำใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่
2.ยถาพลสันโดษ หมายถึงความยินดีตามกำลัง เรามีกำลังแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น ตั้งแต่กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังบารมี หรือกำลังความสามารถเป็นต้น


ข้อที่ 25: มีความกตัญญู
บาลี: กตญฺญุตา (กะตัญญุตา) คือ การรู้คุณ และตอบแทนท่านผู้นั้น บุญคุณที่ว่านี้มิใช่ว่าตอบแทนกันแล้วก็หายกัน แต่หมายถึงการรำลึกถึงพระคุณที่เคยให้ความอุปการะแก่เราด้วยความเคารพยิ่ง ท่านว่าสิ่งของหรือผู้ที่ควรกตัญญูนั้นมีดังนี้

1.กตัญญูต่อบุคคล บุคคลที่ควรกตัญญูก็คือ ใครก็ตามที่มีบุญคุณควรระลึกถึงและตอบแทนพระคุณ เช่น บิดา มารดา อาจารย์ เป็นต้น
2.กตัญญูต่อสัตว์ ได้แก่สัตว์ที่มีคุณต่อเราช่วยทำงานให้เรา เราก็ควรเลี้ยงดูให้ดีเช่นช้าง ม้า วัว ควาย หรือสุนัขที่ช่วยเฝ้าบ้าน เป็นต้น

ข้อที่ 26: ฟังธรรมตามกาล
บาลี: กาเลน ธมฺมสฺสวนํ (กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง) เมื่อมีโอกาส เวลา หรือตามวันสำคัญต่าง ๆ ก็ควรต้องไปฟังธรรมบ้าง เพื่อสดับตรับฟัง สิ่งที่เป็นประโยชน์ในหลักธรรมนั้น ๆ และนำมาใช้กับชีวิตเรา เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ท่านว่าเวลาที่ควรไปฟังธรรมนั้นมีดังนี้คือ

1.วันธรรมสวนะ ก็คือวันพระ หรือวันที่สำคัญทางศาสนา
2.เมื่อมีผู้มาแสดงธรรม ก็อย่างเช่น การฟังธรรมตามวิทยุ การที่มีพระมาแสดงธรรมตามสถานที่ต่าง ๆ หรือการอ่านจากสื่อต่าง ๆ
3.เมื่อมีโอกาสอันสมควร อาทิเช่นในวันอาทิตย์เมื่อมีเวลาว่าง หรือในงานมงคล งานบวช งานกฐิน งานวัดเป็นต้น

ข้อที่ 27: มีความอดทน
บาลี: ขนฺตี จ (ขันตี จะ) ท่านว่าลักษณะของความอดทนนั้นสามารถจำแนกออกได้เป็นดังต่อไปนี้คือ

1.ความอดทนต่อความลำบาก คือความลำบากที่ต้องประสพตามธรรมชาติ ซึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อมเป็นต้น
2.ความอดทนต่อทุกขเวทนา คือทุกข์ที่เกิดจากสังขารของเราเอง เช่นความไม่สบายกายเป็นต้น
3.ความอดทนต่อความเจ็บใจ คือการที่คนอื่นทำให้เราต้องผิดหวัง หรือพูดจาให้เจ็บช้ำใจ ไม่เป็นอย่างที่หวังเป็นต้น
4.ความอดทนต่ออำนาจกิเลส คือสิ่งยั่วยวนทั้งหลายถือเป็นกิเลสทั้งทางใจและทางกายอาทิเช่น ความนึกโลภอยากได้ของเขา หรือการพ่ายแพ้ต่ออำนาจเงินเป็นต้น

ข้อที่ 28: เป็นผู้ว่าง่าย
บาลี: โสวจสฺสตา (โสวะจัสสะตา) ควรเป็นคน สอนง่าย ไม่ตายด้าน ก่อรำคาญ ค่ำเช้า ไม่เข้าไหน ไม่ซัดโทษ ของตน ให้คนใด เมื่อมีใคร สอนพร่ำ ให้นำมา ท่านว่าผู้ว่าง่ายนั้นมีลักษณะที่สังเกตได้ดังนี้คือ

1.ไม่พูดกลบเกลื่อนเมื่อได้รับการว่ากล่าวตักเตือน คือการรับฟังด้วยดี ไม่ใช่แก้ตัวแล้วปิดประตูความคิดไม่รับฟัง
2.ไม่นิ่งเฉยเมื่อได้รับการเตือน คือการนำคำตักเตือนนั้นมาพิจารณาและแก้ไขข้อบกพร่องนั้น ๆ
3.ไม่จับผิดผู้ว่ากล่าวสั่งสอน คือการที่ผู้สอนอาจจะมีความผิดพลาด เนื่องจากความประมาท เราควรให้อภัยต่อผู้สอน เพราะการจับผิดทำให้ผู้สอนต้องอับอายขายหน้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม


ข้อที่ 29: ได้เห็นสมณะ
บาลี: สมณานญฺจ ทสฺสนํ (สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง) คำว่าสมณะแปลตรงตัวได้ว่า ผู้สงบ (หมายถึงผู้อยู่ในสมณเพศ) ท่านว่าคุณสมบัติของสมณะต้องประกอบไปด้วย 3 อย่างคือ

1.ต้องสงบกาย คือมีความสำรวมในการกระทำทุกอย่าง รวมถึงกิริยา มรรยาท ตามหลักศีลธรรม
2.ต้องสงบวาจา คือการพูดจาให้อยู่ในกรอบของความพอดี มีความสุภาพสงบเสงี่ยมในคำพูดและภาษาที่ใช้ เป็นไปตามข้อปฏิบัติ ประเพณี
3.ต้องสงบใจ คือการทำใจให้สงบปราศจากกิเลสครอบงำ ไม่ว่าจะเป็น โลภ โกรธ หลง หรือความพยาบาทใด ๆ ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิภาวนา


ข้อที่ 30: สนทนาธรรมตามกาล
บาลี: กาเลน ธมฺมสากจฺฉา (กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา) การได้สนทนากันเรื่องธรรม ทำให้ขยายขอบเขตการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ และได้รู้ในสิ่งใหม่ ๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึง หรือเป็นการเผื่อแผ่ความรู้ที่เรามีให้แก่ผู้อื่นได้ทราบด้วย ก่อนที่เราจะสนทนาธรรม ควรต้องพิจารณาและคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ

1.ต้องรู้เรื่องที่จะพูดดี
2.ต้องพูดเรื่องจริง มีประโยชน์
3.ต้องเป็นคำพูดที่ไพเราะ
4.ต้องพูดด้วยความเมตตา
5.ต้องไม่พูดจาโอ้อวด หรือยกตนข่มท่าน


ข้อที่ 31: บำเพ็ญตบะ
บาลี: ตโป จ (ตะโป จะ) ตบะ โดยความหมายแปลว่า ทำให้ร้อน ไม่ว่าด้วยวิธีใด การบำเพ็ญตบะหมายความถึงการทำให้กิเลส ความรุ่มร้อนต่าง ๆ หมดไป หรือเบาบางลง ลักษณะการบำเพ็ญตบะมีดังนี้

1.การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 (อายตนะภายใน 6 อย่าง) ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้หลง ติดอยู่กับสัมผัสภายนอกมากเกินไป ไม่ให้กิเลสครอบงำใจเวลาที่รับรู้อารมณ์ผ่านอินทรีย์ทั้ง 6 (อินทรีย์สังวร)
2.การประพฤติรักษาพรหมจรรย์ เว้นจากการร่วมประเวณี หรือกามกิจทั้งปวง

ข้อที่ 32: ประพฤติพรหมจรรย์
บาลี: พฺรหฺมจริยญฺจ (พรัหมะจะริยัญจะ) คำว่าพรหมจรรย์หมายความถึง การบวชซึ่งละเว้นเมถุน การครองชีวิตที่ปราศจากเมถุน การประพฤติธรรมอันประเสริฐ ท่านว่าลักษณะของธรรมที่ถือว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์นั้น (ไม่ใช่ว่าต้องบวชเป็นพระ) มีอยู่ดังนี้คือ

1.ให้ทาน บริจาคทานไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง หรือปัญญา
2.ช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการงานที่ชอบ ที่ถูกที่ควร (เวยยาวัจจมัย)
3.รักษาศีล 5 คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา (เบญจศีล)

ข้อที่ 33: เห็นอริยสัจ
บาลี: อริยสจฺจานทสฺสน (อะริยะสัจจานะทัสสะนะ) อริยสัจ หมายถึงความจริงอันประเสริฐ หลักแห่งอริยสัจมีอยู่ 4 ประการตามที่ท่านได้สั่งสอนไว้มีดังนี้

1.ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความเป็นจริงของสัตว์โลกทุกผู้ทุกนามต้องมีทุกข์
2.สมุทัย คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ นอกจากเหตุแห่งทุกข์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
3.นิโรธ คือความดับทุกข์ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ความหลุดพ้น หรือหมายถึงภาวะของพระนิพพานนั่นเอง
4.มรรค คือข้อปฏิบัติ หรือหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ การเดินทางสายกลางเพื่อไปให้ถึงการดับทุกข์


ข้อที่ 34: ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
บาลี: นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ (นิพพานะสัจฉิกิริยา จะ) ทำให้แจ้ง นิพพาน ผลาญสังโยชน์ ตรวจตราโทษ ธาตุ ขันธ์ หมั่นฝึกถอน เอาอรหัต มรรคญาณ เผาราญรอน ดับทุกข์ร้อน นิพพาน สำราญนัก ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านเป็นพระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทาญาณ ท่านอธิบายถึงการระลึกถึงคุณพระนิพพาน โดยท่านยกบาลี 8 ข้อ ไว้เป็นแนวเครื่องระลึก ดังจะนำมา เขียนไว้เพื่อเป็นเครื่องอุปกรณ์ในการระลึก

ข้อที่ 35: มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
บาลี: ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปต (ผุฏฺฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะตะ) คำว่าโลกธรรม มีความหมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำบนโลกนี้ ซึ่งเราไม่ควรมีจิดหวั่นไหวต่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ท่านว่าลักษณะของโลกธรรมมี 4 ประการคือ

1.การได้ลาภ เมื่อมีลาภผลก็ย่อมมีความเสื่อมเป็นธรรมดา
2.การได้ยศ ยศฐาบรรดาศักดิ์ล้วนเป็นสิ่งสมมุติขึ้นมาทั้งนั้น
3.การได้รับการสรรเสริญ ที่ใดมีคนนิยมชมชอบ ที่นั่นก็ย่อมต้องมีคนเกลียดชังเป็นเรื่องธรรมดา
4.การได้รับความสุข ที่ใดมีสุขที่นั่นก็จะมีทุกข์ด้วย


ข้อที่ 36: มีจิตไม่เศร้าโศก
บาลี: อโสกํ (อะโสกัง) คราวพลัดพราก จากญาติ ขาดชีวิต ถูกพิชิต จองจำ ทำโทษใหญ่ มีสติ คุมจิต เป็นนิตย์ไป ไม่เสียใจ โศกเศร้า เฝ้าประคอง ท่านว่ามีเหตุอยู่ 5 ประการที่ทำให้จิตเราต้องโศกเศร้าคือ

1.ความโศกเศร้าที่เกิดเนื่องมาจากความรัก
2.ความโศกเศร้าที่เกิดจากความใคร่
3.ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เนือง ๆ ถึงความไม่เที่ยงในสิ่งของทั้งหลาย และร่างกายของเรา
4.ไม่ยึดมั่นในตัวตน หรือความจีรังยั่งยืน ในคนหรือสิ่งของว่าเป็นของเรา
5.ทุกอย่างในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ แม้ร่างกายเราก็ใช้เป็นที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น

ข้อที่ 37: มีจิตปราศจากกิเลส
บาลี: วิรชํ (วิระชัง)
ธุลี คือ กิเลส(สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ย่อมไม่ติดอยู่ในจิตที่ฝึกดีแล้ว เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว)
จิตทีฝึกฝนดีแล้วย่อมหลุดพ้นไม่พัวพันอยู่กับกิเลสทั้งปวง เป็นจิตที่ปลอดโปร่งเป็นอิสรเสรีและมีศักยภาพสูงสุด เป็นจิตที่นำเอาความสงบร่มเย็นที่ยั่งยืนมาสู่โลก


ข้อที่ 38: มีจิตเกษม
บาลี: เขมํ (เขมัง) เกษม หมายถึงมีความสุข สบาย หรือสภาพที่มีจิตใจที่เป็นสุข มีจิดเกษมก็คือว่ามีจิตที่เป็นสุขในที่นี้หมายถึงการละแล้วซึ่งกิเลส ที่ท่านว่าไว้ว่าเป็นเครื่องผูกอยู่ 4 ประการคือ

1.การละกามโยคะ คือการละความยินดีในวัตถุ
2.การละภวโยคะ คือการละความยินดีในภพ
3.การละทิฏฐิโยคะ คือการละความยินดีในความเห็นผิดเป็นชอบ
4.การละอวิชชาโยคะ คือการละความยินดีในอวิชชาทั้งหลาย ความไม่รู้ทั้งหลาย

ปฐมเหตุของมงคลชีวิต

ประมาณ 12 ปีก่อนพุทธกาล ประชาชนต่างตื่นตัวว่า อะไรคือเหตุที่ทำให้ชีวิตเป็นมงคล บ้างก็ว่า การมีสิ่งของ เช่นต้นไม้ สัตว์ หรือว่ารูปเคารพต่าง ๆ จะทำให้ชีวิตเป็นมงคล เรื่องราวการอภิปรายเรื่องมงคล ก็ไปถึงภุมเทวา คือเทวาดาในระดับพื้นดิน เทวดาก็สนทนากันว่าอะไรคือมงคล ประเด็นนี้ก็ลุกลามไปถึงอากาศเทวา ไปถึงสวรรค์ชั้นต่าง ๆ จนถึงพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ของมนุษย์ที่บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีแล้ว มีความเข้าใจในเรื่องมงคลชีวิตเป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถอธิบายได้ จึงได้ประกาศให้เทวดาทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จลงมาตรัสรู้ธรรมในอีก 12 ปี ให้ไปถามพระพุทธองค์ในตอนนั้น

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว คืนหนึ่งขณะที่ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ใกล้เมืองสาวัตถี ท้าวสักกเทวราชได้นำหมู่เทวดาเข้าเฝ้า และบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งทูลถามพระองค์ว่า อะไรคือมงคลของชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงหลักมงคล ซึ่งมีทั้งหมด 38 ประการ

มงคลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ยึดถือวัตถุ แต่ยึดถือการปฏิบัติฝึกฝนตนเอง อย่างไรก็ตาม แม้พระพุทธองค์จะทรงแสดงธรรมไว้ชัดเจนดีแล้ว ก็มีผู้ที่เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง จึงได้ส่งผลมาถึงปัจจุบันนี้ แนวทางการยึดถือความเป็นมงคล จึงมีอยู่ 2 แนวทาง คือ

1.มงคลจากการมีนู่นมีนี่
2.มงคลจากการฝึกตัว

ที่มา : http://www.thammatipo.com


กฏไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


สิ่งทั้งหลายทั้งปวงประกอบอยู่ด้วยลักษณะอันเรียกว่า ไตรลักษณ์ หรือลักษณะ 3 ประการคือ
1. อนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง มีหมายความว่า สิ่งทั้งหลายมีลักษณะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไป ไม่มีความคงที่ตายตัว
2. ทุกขัง แปลว่า เป็นทุกข์ มีหมายความว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีลักษณะที่เป็นทุกข์มองดูแล้วน่าสังเวชใจ ทำให้เกิดความทุกข์ใจแก่ผู้ที่ไม่มีความเห็นอย่างแจ้มแจ้งในสิ่งนั้นๆ
3. อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน มีความหมายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ไม่มีลักษณะอันใดที่จะทำให้เรายึดถือได้ว่ามันเป็นตัวเราของเรา ถ้าเห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนถูกต้องแล้ว ความรู้สึกที่ว่า ไม่มีตน จะเกิดขึ้นมาเองในสิ่งทั้งปวง แต่ที่เราไปหลงเห็นว่าเป็นตัวเป็นตนนั้น ก็เพราะความไม่รู้อย่างถูกต้องนั่นเอง

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้คือการประกาศความจริงออกไปว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงไม่เที่ยง สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงเป็นทุกข์ สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน
ขอให้ทราบว่า ลักษณะสามัญ 3 ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมากกว่าคำสั่งสอนอื่นๆ ในบรรดาคำสั่งสอนทั้งหลายจะนำมารวบยอดอยู่ที่การเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ทั้งนั้น บางทีก็กล่าวตรงๆ บางทีก็พูดด้วยโวหารอย่างอื่น แต่ใจความมุ่งแสดง ความจริงอย่างเดียวกัน
เมื่อได้กล่าวถึงหลักที่ว่า เราต้องรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร และต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะตรงต่อกฏธรรมชาติของสิ่งทั้งปวง ดังนี้แล้ว หลักในพระบาลีก็มีอีกพวกหนึ่งเรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ แปลว่า คำสอนที่เป็นประธานของคำสอนทั้งหมด มีอยู่ 3 ข้อสั้นๆ คือ ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้เต็มที่ และทำจิตใจให้สะอาดปราศจากความเศร้าหมอง นี้เป็นหลักสำหรับปฏิบัติ
เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ยึดถือไม่ได้ และไปหลงใหลด้วยไม่ได้ เราต้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งปวงให้ถูกต้องด้วยความระมัดระวัง คือเว้นจาการทำชั่ว หมายถึง การละโมบ โลภลาภด้วยกิเลส ไม่ลงทุนด้วยการฝืนศีลธรรมขนบธรรมเนียมต่างๆ เพื่อไปทำความชั่ว อีกทางหนึ่งนั้นให้ทำแต่ความดีตามที่บัณฑิตสมมุติตกลงกันว่าเป็นคนดี แต่ทั้งสองข้อนี้เป็นเพียงขั้นศีลธรรม ข้อที่สามที่ว่า ทำจิตใจให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองโดยประการนั้นนั่นแหละ เป็นตัวพุทธศาสนาโดยตรง หมายความว่าทำจิตใจให้เป็นอิสระ ถ้ายังไม่เป็นอิสระจากอำนาจครอบงำของสิ่งทั้งปวงแล้ว จะเป็นจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ไปไม่ได้ จิตจะเป็นอิสระก็ต้องมาจากความรู้อะไรเป็นอะไรถึงที่สุด ถ้ายังไม่รู้จะไปหลงรัก หรือหลงชังอย่างใดอย่างหนึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วจะเรียกว่าเป็นอิสระแท้จริงได้อย่างไร คนเรามีความรู้สึกอยู่สองอย่างเท่านั้น คือความพอใจกับไม่พอใจ (อภิชฌา และโทมนัส)

ขอขอบคุณที่มา : suchart.rmutl.ac.th
เครดิตภาพ : pixabay

ดอกมณฑารพ ดอกไม้สวรรค์

ดอกมณฑารพ  เป็นดอกไม้ทิพย์ที่โปรย ปรายลงมาบูชาพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในบาลีบันทึกไว้อย่างนี้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงเมืองกุสินาราได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า



“อานนท์ เธอจงจัดตั้งที่นอนระหว่างต้นสาละคู่ มีศีรษะไปทางทิศเหนือ เราลำบากกายนัก จักนอน” ลำดับนั้นพระพุทธองค์ทรงประทับสีหไสยาสแล้ว “มีอัศจรรย์ดอกสาละผลิผิดฤดูกาล โปรยลงมาบน พระสรีระ ดอกมณฑารพ จุรณ์จันทร์ไม้จันทร์ ดนตรีล้วน”

ดอกมณฑารพ เป็นดอกไม้ทิพย์ที่ไม่มีในโลกมนุษย์ และจะปรากฏเฉพาะตอนที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า เช่น ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน วันจาตุรงคสันนิบาต และวันที่ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นต้น ซึ่งเทพเทวดาจะ บันดาลให้ดอกมณฑารพตกลงมาจากเทวโลก

เรื่องของดอกไม้ทิพย์ มณฑารพนี้ยังมีอีกคือ เมื่อพระมหากัสสปะ อัครสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้าผู้เป็นประธานในการทำสังคายนาพุทธศาสนาครั้งที่ 1 ตั้งใจจะไปเฝ้าพร้อมภิกษุ บริวาร 500 องค์ ได้เห็นนักบวชนอกศาสนาคนหนึ่งซึ่งมาจากเมืองกุสินารา ถือ “ดอกมณฑารพ” ที่ผูกติดกับกิ่งไม้ต่างร่มเดินสวนทางมา พระมหากัสสปะจึงได้สอบถามข่าวคราวของพระพุทธองค์จากนักบวชนอกศาสนาผู้นั้น ซึ่งได้รับคำตอบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานมา 7 วันแล้ว และดอกมณฑารพนี้ก็ได้เก็บมาจากบริเวณที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน

ดอกมณฑารพตามพุทธประวัติส่วนนี้ น่าจะเป็นดอกไม้ที่มีขนาดใหญ่มากจนนำมาทำเป็นร่มกันแดดได้  ในประเทศไทยเรียกดอกไม้กลุ่มหนึ่งว่า ดอกมณฑารพ หรือ ดอกมณฑา เป็นไม้พุ่มสูง 3-10 เมตร อยู่ในกลุ่มเดียวหรือวงศ์เดียวกับ ดอกจำปา จำปี และ ยี่หุบ บางแห่งเรียก ดอกไข่ไก่

ดอกมณฑารพตามภาพข้างต้นมีกลีบดอกแข็ง สวยงามและมีกลิ่นหอม จึงนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ

ขอขอบคุณที่มา : www.technologychaoban.com

พุทธคุณ ๙ ประการ

" พุทธคุณ ๙ ประการ "


     คุณของพระพุทธเจ้ามี ๙ ประการคือ
          ๑. อรหํ เป็นพระอรหันต์
          ๒. สมฺมาสมฺพุทโธ ตรัสรู้เองโดยชอบ
          ๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
          ๔. สุคโต เสด็จไปดีแล้ว
          ๕. โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก
          ๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีฝึกคนที่ฝึกได้ไม่มีใครยิ่งกว่า
          ๗. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นสาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
          ๘. พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว
          ๙. ภควา เป็นผู้มีโชค
     พุทธคุณทั้งหมดนั้น โดยย่อมี ๒ คือ
          ๑. พระปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญา
          ๒. พระกรุณาคุณ พระคุณคือพระมหากรุณา
     พุทธคุณตามที่นิยมกว่ากันในประเทศไทย ย่อเป็น ๓ คือ
          ๑. พระปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญา
          ๒. พระวิสุทธิคุณ พระคุณคือความบริสุทธิ์
          ๓. พระมหากรุณาคุณ ประคุณ

ขอขอบคุณข้อมูล : dhammathai.org

ทมะ/การข่มใจตน

ทมะ หมายถึง การรู้จักข่มใจหรือควบคุมจิตให้อยู่ในกุศลธรรมเพื่อให้ตนไม่ตกอยู่ในกิเลสทั้ง 3 คือ การโกรธ การโลภ การหลง พร้อมกับฝึกฝนตนให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีนั้น รวมถึงยังความดีให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป ประกอบด้วยธรรม 2 ประการ คือ

1. การข่มใจ
2. การฝึกตน




ทมะ 2 ประการ

1. การข่มใจตนเอง
การข่มใจตนเอง คือ การรู้จักใช้ปัญญาในการยับยั้งจิตใจตนเองไม่ให้ตกอยู่ในกิเลสทั้งหลายอันจะทำให้ตนเสื่อมลง อันประกอบด้วยการรู้จักข่มใจตนเองให้ห่างจากกิเลส 3 อย่าง ได้แก่
– ความโกรธ คือ รู้จักระงับความโกรธอันเป็นภาวะที่เกิดจากความขุ่นเคือง ความคับแค้นใจ ธรรมที่ใช้เป็นแนวทางในการระงับความโกรธ ได้แก่ ขันติ คือ การรู้จักความอดทน
– ความโลภ คือ รู้จักระงับความทะยานอยากเพื่อตอบสนองความต้องการของตน อันเป็นความทะยานอยากในรูปธรรมที่ทวารทั้ง 5 สัมผัสได้ ธรรมที่ใช้ระงับความอยากนี้ ได้แก่ การมีความเมตตา กรุณา และจาคะ คือ การรู้จักให้ รู้จักบริจาค
– ความหลง คือ รู้จักระงับใจตนเองไม่ให้หลงมัวเมาในรูปธรรมที่ตนพอใจทั้งหลาย และไม่หลงมัวเมาในภาวะความสุขอันเกิดจากการปรุงแต่งขึ้นจากจิตของตน ธรรมที่ใช้ในการระงับความหลงมัวเมานี้ ได้แก่ ปัญญา คือ การรู้จักใช้ความรู้หรือประสบการณ์ของตนพิจารณาวิเคราะห์ให้รู้แจ้งในสิ่งเหล่านั้นตามหลักแห่งเหตุ และผล อันนำมาสู่สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ รู้ชอบในทางอันเป็นกุศลธรรม

2. การฝึกฝนตนเอง
การฝึกฝนตนเอง คือ การรู้จักฝึกฝน ฝึกปฏิบัติ และมั่นยับยั้งจิตใจของตนให้ห่างจากกิเลสทั้งหลายข้างต้น อันจะทำให้ความดีนั้นให้คงอยู่ และให้เจริญยิ่งขึ้นไป การฝึกฝนตนนั้น พึงให้ใช้ปัญญา คือ การใช้ความรู้เป็นพื้นฐานในการคิดพิจารณาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นนิจ ทั้งที่เคยเกิดแล้วมาเป็นประสบการณ์ ทั้งที่ขณะเกิดมาคิดถึงผลเสียที่จะตามมา และสิ่งที่อาจจะเกิดในอนาคตด้วยการหลีกเลี่ยงให้ห่าง ทั้งนี้ วธีการฝึกฝนตนท่านพึงให้ใช้การฝึกสมาธิ และมรรคทั้ง 8 เป็นแนวทาง
อานิสงส์ของการมีทมะ
1. ปลูกฝังให้ตนเป็นผู้มีความอดทน
2. เป็นผู้มีจิตใจสงบ มีสมาธิ ทำกิจการใดด้วยความรอบคอบ
3. เป็นผู้มีลาภ ยศ และทรัพย์ในภายภาคหน้า และไม่เสื่อมในลาภ ในยศ และในทรัพย์นั้นได้ง่าย
4. เป็นผู้มีปัญญา ไม่หลงมัวเมาในสิ่งทั้งหลาย
5. ผู้อื่นให้ความเคารพนับถือ
– ฯลฯ
โทษของการขาดทมะ
1. มักเป็นผู้โกรธง่าย โมโหร้ายจนผู้อื่นไม่คบหา
2. มักสร้างศรัตรู คู่อริ
3. มักถูกหลอกลวงได้ง่าย
3. มักเป็นผู้ขาดสติปัญญา ขาดการรู้คิด
4. ทำให้เสื่อมในทรัพย์ ในยศที่ตนมี
5. มักถูกติฉินนินทา ผู้คนรังเกียจ
– ฯลฯ
ขอขอบคุณข้อมูลที่มา : thaihealthlife.com/ทมะ

อินทรีย์ 5 การตั้งมั่นด้วยจิตอันนำพา 5 ประการ

อินทรีย์ 5 คือ การตั้งมั่นด้วยจิตอันนำพา 5 ประการ เพื่อความเจริญในศีลธรรม และการงาน ประกอบด้วย 5 ประการ คือ


1. สัทธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเลื่อมใสต่อสิ่งที่ควรเลื่อมใส
2. วิริยินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเพียรพยายาม
3. สตินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการระลึกได้
4. สมาธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการกระทำจิตให้มีสมาธิ
5. ปัญญินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในปัญญาหรือการรู้แจ้ง
อินทรีย์ 5 ในด้านต่างๆ– การเป็นใหญ่
– การนำพา
– การเป็นผู้นำ
– การเป็นผู้ปกครอง
– การตั้งมั่นหรือตั้งอยู่
– การครอบงำ
1. การเจริญในธรรม
– สัทธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเลื่อมใสต่อการเจริญธรรม
– วิริยินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเพียรพยายามต่อการเจริญธรรม
– สตินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการระลึกได้ต่อการเจริญธรรม
– สมาธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการกระทำจิตให้สงบต่อการเจริญธรรม
– ปัญญินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการใช้ปัญญาต่อสิ่งที่ควรรู้ต่างๆ
2. อาชีพการงาน
– สัทธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเลื่อมใสต่อการงานของตน
– วิริยินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเพียรพยายามต่อการงานของตน
– สตินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการระลึกได้ต่อการงานของตน
– สมาธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการกระทำจิตให้สงบต่อการงานของตน
– ปัญญินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการใช้ปัญญาต่อการงานของตน
อินทรีย์ 5 ควรมีกำลังเท่ากันในทุกสถาน และกาลเวลา
– ผู้มีศรัทธามาก แต่มีความรู้น้อย ย่อมเชื่ออะไรง่าย หลงใหลได้ง่าย
– ผู้มีปัญญา มีความรู้มาก แต่มีศรัทธาน้อย มักทระนงตัว เชื่อฟังคนอื่นยากหรือมักใช้ปัญญาในทางที่ผิด
– ผู้มีสมาธิแน่วแน่ แต่มีความเพียรน้อย ย่อมท้อต่อความลำบาก ความร้อนหนาวได้ง่าย
– ผู้มีความเพียรมาก อดทนต่อความลำบากได้ดี แต่หากมีสมาธิน้อย มักทำงานผิดพลาดเสมอ
หลักปฏิบัติในอินทรีย์ 5
1. สัทธินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 ด้วยการนำจิตของตนให้ตั้งมั่นในศรัทธาหรือความเลื่อมใสในสิ่งที่ควรเชื่อ ควรกระทำ เช่น เชื่อว่าตนสามารถสอบเข้ามหาลัยได้หากตนขยันอ่านหนังสือมากขึ้น
2. วิริยินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 ด้วยการนำจิตของตนให้ตั้งมั่นในความเพียร ความมานะอุตสาหะต่อสิ่งที่ตนกระทำเพื่อยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ตนมากที่สุด เช่น มีความขยันเพียรพยามยามที่จะอ่านหนังสือสอบ
3. สตินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 ด้วยการนำจิตของตนให้ตั้งมั่นในความระลึกได้ขณะกระทำสิ่งใด อันปราศจากความเลื่อนลอยหรือความลืมตัวอันจะช่วยนำพาตนไปสู่ความเจริญ เช่น มีสติหรือความระลึกได้ขณะขับรถยนต์
4. สมาธินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 ด้วยการนำจิตของตนให้ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ มีสมาธิ จิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งที่ตนดำเนินอยู่ เช่น มีสมาธิในการอ่านหนังสือ
5. ปัญญินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 ด้วยการนำจิตของตนให้ตั้งมั่นอยู่กับปัญญา คือ รู้จักใช้ความรู้ในการคิด วิเคราะห์ต่อสิ่งที่ตนจะกระทำหรือขณะกระทำเพื่อให้รู้แจ้งต่อสิ่งนั้น เช่น รู้จักคิดวิเคราะห์แก้โจทย์วิชาคณิตศาสตร์
อินทรีย์ 5 ประการนี้ ท่านผู้รู้กล่าวว่า เป็นบทธรรมอันเดียวกันกับ พละ 5 ประการ คือ มีหัวข้อธรรมเหมือนกัน และมีลักษณะแนวทางปฏิบัติเหมือนกัน
ขอขอบคุณที่มา : thaihealthlife.com

พรหมวิหาร 4 หลักธรรมประจำใจ


พรหมวิหาร 4

- พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ หลักธรรมนี้ได้แก่
เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข
กรุณา ความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
อุเบกขา การรู้จักวางเฉย



พรหมวิหาร 4
1. เมตตา : ความปราถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ เช่น ความสุขเกิดการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการบริโภค ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ 
และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น
2. กรุณา : ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

- ทุกข์โดยสภาวะ หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น การเกิด การเจ็บไข้ ความแก่และ ความตายสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมเรียกว่า กายิกทุกข์

- ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เช่น เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า เจตสิกทุกข์

3. มุทิตา : ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา ความริษยา คือ ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความฟุ้งซ่านซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน เช่น เห็นเพื่อนแต่งตัวเรียบร้อยแล้วครูชมเชยก็เกิดความริษยาจึงแกล้งเอาเศษชอล์ก โคลน หรือหมึกไปป้ายตามเสื้อกางเกงของเพื่อนนักเรียนคนนั้นให้สกปรกเลอะเทอะ เราต้องหมั่นฝึกหัดตนให้เป็นคนที่มีมุทิตา เพราะจะสร้างไมตรีและผูกมิตรกับผู้อื่นได้ง่ายและลึกซึ้ง

4. อุเบกขา : การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

ขอขอบคุณที่มา : learntripitaka.com
เครดิตภาพ : pixabay.com

ธรรมคำสอน เข้าใจง่าย


" ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีความเพียร ไม่มีวันสำเร็จ "
" บารมีต้องสร้างเอา เหมือนอยากให้มะม่วงของตนมีผลดก ก็ต้องหมั่น บำรุงรักษาเอา ไม่ใช่แห่ไปชื่นชมต้นมะม่วงของคนอื่น ต้องไปปลูก ไปบำรุงต้นมะม่วงของตนเอง การสร้างบารมีก็เช่นกัน ต้องสร้างต้อง ทำเอาเอง "

"เรื่องราวเต็มโลก เต็มบ้านเต็มเมือง เราก็วางเสีย ละเสีย
การละก็อยู่ที่กาย ที่ใจของตนเองนี่แหละ อย่าไปละที่อื่น
การหอบอดีต และอนาคต มาหมักสมไว้ในใจ ใจก็เป็นทุกข์ ตัดออกให้หมด"

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่



"การตำหนิติเตียนผู้อื่น ถึงเขาจะผิดจริงก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย
ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดตำหนิผู้อื่น จนอยู่ไม่เป็นสุขนั้นนักปราชญ์ถือเป็นความผิด 

และบาปกรรมไม่มีดีเลย

จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนา มาทรมานอย่างไม่คาดฝัน
การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรองเป็นการสั่งสมโทษ และบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์
จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย
ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทำไมพอใจสร้างขึ้น"


คติธรรมของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต



" เราไม่ควรอ้างกาลเวลา
เราต้องตั้งสติให้มันเคร่งครัดลงไป
ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบถ
ให้มันมีสติอยู่เสมอทุกลมหายใจ
เข้าออก เราแก่อยู่เจ็บอยู่ ตายอยู่ทุกเวลานาที.."

อนึ่ง เมื่อความโกรธเกิดขึ้น
เรากลั้นลมหายใจเสีย ความโกรธนั้นก็หายไป
แล้วจะเหลือแต่ใจเดิม คือความรู้สึกเฉยๆ
อย่าลืม ทำบ่อยๆ ก็เห็นใจเดิม
แล้วความโกรธก็ค่อยๆ หายไป


หลวงปู่เทศก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย



เรื่องของโลกยิ่งเรียนยิ่งกว้าง
เรื่องของธรรมยิ่งรู้ยิ่งแคบ

และรู้แคบเท่าไรก็ยิ่งดี
ถ้ารู้กว้างออกไปมักฟุ้งซ่าน
เป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบ

ผู้ที่ทำจิตให้แคบเข้าละเอียดเข้าก็จะเกิดความวิเวกสงบ
เกิดแสงและวิปัสสนาญาณ
มองเห็น อดีต อนาคต และปัจจุบันได้ทุกอย่าง


พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ 




"ผู้เจริญย่อมไม่เบียดเบียนใคร ไม่อาฆาตใคร ไม่พยาบาทใคร ให้อภัยแก่คนทุกจำพวก
ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรกับใครเลย ต้องพร้อมที่จะให้อภัยอยู่เสมอ อย่างนี้ ใจเราสบาย"

" โกรธเขาเราทุกข์เองนั่นแล ถ้าไม่โกรธก็ไม่ทุกข์ สบาย " 


หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
วัดศรีอภัยวัน ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย



ขอขอบคุณ : dharmaxp.blogspot.com
เครดิตภาพ : pixabay 

ป้ายกำกับ